วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่าด้วงหรือทองด้วง  เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๙๘  หรือวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นบุตรของพระอักษรสุนทร ( ทองดี ) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ กับท่านหยกธิดาเศรษฐี สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี  ( ปาน )   เสนาบดีกรมพระคลัง  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ท่านเข้ารับราชการครั้งแรกโดยถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต  เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ทรงผนวช ณ วัดมหาทลาย เป็นเวลา ๑ พรรษา ทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตร  เมืองราชบุรี เมื่อพระชนมายุ ๒๕ พรรษา
            หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าได้ ๑ ปี พระองค์ ได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีในตำแหน่งพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้บ้านเมืองและทำศึกสงครามมากมาย ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ พระองค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบเจ้าพิมาย ภายหลังสงครามครั้งนี้ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๒  ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร (กัมพูชา) ตีได้เมืองพระตะบองและเสียมราฐ ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงครามอย่างมากมาย จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเลื่อนยศเป็นพระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ
            เมื่อถึงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราวปีพ.ศ.๒๓๒๔ ขณะสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังไปราชการทัพอยู่ที่เขมร (กัมพูชา) ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างฝ่ายกบฏที่ต้องการควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วออกว่าราชการแทน กับฝ่ายต่อต้านกบฏ ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ เมื่อปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จแล้ว ราษฎรและข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สมเด็จพระอมรินทราพระบรมราชินี  เป็นพระบรมราชินีองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  มีพระนามเดิมว่านาค มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๔๒ พระองค์  โดยพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติในพระอัครมเหสีมี ๙ พระองค์  ได้แก่
          ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง                       สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
            ๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย                        สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
            ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่           พระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระราชมารดาในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิด
            ๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม                   ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2
            ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแจ่ม                ต่อมาได้รับการสถาปนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทร
            ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง                        สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
            ๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย                    ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังมหาเสนานุรักษ์
            ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง                       สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
            ๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเอี้ยง                ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าประไพวดี  กรมหลวงเทพยวดี



พระราชกรณียกิจ


กรุงรัตนโกสินทร์

            พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวราราม และวัดโมฬีโลกยาราม ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี
           
             การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จศ.๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พศ.๒๓๒๕ และโปรดเกล้าฯให้สร้าง พระบรมมหาราชวัง สืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรา ยุทธยา มหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต  สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์  นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้ สร้างสิ่งต่างๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการคลอง ถนนและสะพานต่างๆ มากมาย


พระราชกรณียกิจด้านการป้องกันประเทศ



สงครามเก้าทัพ

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด    ครั้งในรัชสมัยของพระองค์  ได้แก่สงคราม

สงครามครั้งที่    พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามเก้าทัพ
            สงคราม ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่า โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบ ประเทศไทย จึงรวบรวมไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐  คน  กรีธาทัพเข้าตีประเทศไทยโดยแบ่งเป็น  ๙  ทัพใหญ่  เข้าตีจากกรอบทิศทางส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง ๗๐,๐๐๐  คนเศษเท่านั้น  
            ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า  ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม  จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร  เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น  และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๒๙  สงครามท่าดินแดงและสามสบ
            ครั้ง นี้ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุดโดยแก้ไขข้อผิด พลาดต่างๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสวนสามสบ  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ  หลังจากรบกันได้  ๓ วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่างๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์  ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทยใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทร์ กัมพูชา และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมือง กลันตัน  ตรังกานู  ไทรบุรี  ปะริด และเประ

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองลำปางและเมืองป่าซาง
            หลังจากที่พม่า พ่ายแพ้แก่ไทยก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม  รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล  ๖๐,๐๐๐  นาย  มาช่วยเหลือ และขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๐  สงครามตีเมืองทวาย
            ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พล  ๒๐๐๐๐ นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๖  สงครามตีเมืองพม่า
            ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๔๐  สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่
            เนื่องจากสงครามในครั้งก่อนๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้  จึงทรงรับสั่งไพร่พล  ๕๕,๐๐๐  นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น ๗ ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น ๔๐,๐๐๐ นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๕๕  สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่  ครั้งที่ ๒
            ในครั้งนั้นพระยากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ  และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย

กฎหมายตราสามดวง



พระราชกรณียกิจด้านการชำระประมวลกฎหมาย

            เมื่อปี พ.ศ.  ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระกฎหมายที่มีอยู่ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อนำมาใช้เป็นหลักการปกครองต่อไป  ซึ่งกฎหมายที่ชำระขึ้นใหม่มีชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง มีความยาวเป็นสมุดยกแปด ๓  เล่ม รวม ๑,๖๗๗ หน้า ใช้เวลาในการชำระ ๑๑ เดือน ซึ่งกฎหมายตราสามดวงนี้ได้ใช้มาอย่างยาวนานจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)  รวมระยะเวลา ๑๓๑ ปี      

พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง

            การปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ตำแหน่งที่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์ คือตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
            ระบบการบริหารมีอัครเสนาบดี    ตำแหน่ง  คือ  สมุหพระกลาโหม  มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมุหนายกมีหน้าที่ปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนคร

            เสนาบดีจตุสดมภ์  ดูแลด้านต่างๆ มี ๔ ตำแหน่ง ประกอบด้วย
            ๑. เสนาบดีกรมเมือง หรือ กรมเวียง  มีตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรทั่วไปในราชอาณาจักร

            ๒. เสนาบดีกรมวัง  มีตราเทพยดาทรงพระนนทิกร(โค) เป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่บังคับบัญชาภายในพระบรมมหาราชวัง  และพิจารณาความคดีแพ่ง

            ๓. เสนาบดีกรมพระคลัง  มีตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่ในการรับ-จ่าย  และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วยอากร  รวมถึงบังคับบัญชากรมท่าและการค้าขายกับต่างประเทศ  รวมถึงกรมพระคลังต่างๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า

            ๔. เสนาบดีกรมนา มีตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่บังคับบัญชาเกี่ยวกับกิจการไร่นาทั้งหมด

พระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา

วัดพระแก้ว


พระราชกรณียกิจที่สำคัญในการทำนุบำรุงพระศาสนา ได้แก่

            การสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุด โดยตั้งคณะสงฆ์ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะขึ้นมาเพื่อชำระพระไตรปิฎก เนื่องจากพระไตรปิฎกที่มี อยู่มีความผิดเพี้ยน และบันทึกเป็นหลายอักษร ทั้งอักษรลาว รามัญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระให้ถูกต้อง และบันทึกเป็นอักษรขอมจารึกลงบนใบลาน แล้วเก็บไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม แล้วสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ตามพระอารามหลวงต่างๆ เพื่อได้ใช้ศึกษาต่อไป
            การกวดขันสมณปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระเถระชั้นผู้ใหญ่  ให้ดำรงสมณศักดิ์รับผิดชอบศาสนาให้รุ่งเรืองต่อไป  และได้ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ไว้อย่างเคร่งครัด
            การสร้างวัด และการบูรณปฏิสังขรณ์  ทรง มีรับสั่งให้มีการก่อสร้างและซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมากโดยเฉพาะ อย่างยิ่งคือ การสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พร้อมกับการสถาปนาพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ.๒๓๒๕ ทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม และทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

พระราชกรณียกิจด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม

รามเกียรติ์

            การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ส่วนใหญ่จะเป็นการฟื้นฟูในด้านวรรณกรรมเป็นสำคัญ  โดยทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองบ้าง  กวีและผู้รู้เขียนขึ้นมาบ้าง  และด้วยความที่พระองค์ทรงสนพระทัยในงานด้านวรรณศิลป์เป็นอย่างมาก  จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนหนึ่ง ที่รู้จักกันดีได้แก่ พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นสุดยอดวรรณคดี เอกของไทย ดังจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในงานศิลปะแขนงต่างๆ มากมาย เช่น จิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารต่างๆ หรือการแสดงโขน เป็นต้น ซึ่งรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่    นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ลงในสมุดปกดำแบบโบราณ ความยาวประมาณ  ๑๐๒  เล่มจบ  นับว่าเป็นวรรณคดีไทยที่มีความรามเกียรติ์ยาวมากเรื่องหนึ่ง

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงอยู่ในสิริราชสมบัตินาน ๒๘ ปีเศษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ รวมพระชนมายุได้ ๗๔ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มี พระอัจฉริยภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสงครามศาสนาการปกครองและศิลปวัฒนธรรม ทรงเป็นผู้ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ และฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้านให้มีความรุ่งเรืองสง่างามเทียบเท่ากับกรุง ศรีอยุธยาราชธานีเก่า ซึ่งนับว่าเป็นความยากลำบากอย่างมาก  แต่พระองค์ก็ทำจนสำเร็จ  ปวงชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา มหาราช” ต่อท้ายพระนามของพระองค์ เพื่อรำลึกถึงเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ของพระองค์สืบไป

เกร็ดความรู้

สะพานพุทธ

        สะพานพุทธ
         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก  พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗)  ได้มีพระราชดำริว่า  ควรจะมีการสร้างอนุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์สืบไป และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๕๐ ปีรวมถึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่เป็น ๓ เท่าของพระองค์จริง และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม ระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ส่วนแบบสะพานนั้นเป็นสะพานเหล็กยาว ๒๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๑๖.๖๘ เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ ๓๒.๕ เมตร และพระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่าสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า สะพานพุทธ” นั่นเอง

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

ประวัติ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

สมเด็จ พระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง องค์นี้ เป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริชัย หรือ ศรีวิชัย สมภพ เมื่อ (จากหมายเหตุโหร) วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 จ.ศ. 676 พ.ศ.1857 (ตรงกับวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.1856)เวลารุ่งเช้า ปลายรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย

เรื่อง ราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองนั้น มีความสันนิษฐานสรุปไว้เบื้องต้นว่า พระเจ้าไชยศิริ กษัตริย์จากแคว้นโยนกเชียงแสน ซึ่งครองเมืองชัยปราการ (เมืองฝาง) นั้นได้พาครอบครัวและเชื้อพระวงศ์ทิ้งเมืองอพยพหนี เนื่องจากพวกมอญได้ยกทัพมาตีและเข้าเผาทำลายบ้านเมืองจนร้าง บรรดาไพร่พลและเชื้อพระวงศ์ที่อพยพลงมาทางตอนใต้นั้น ได้พากันแยกย้ายไปตั้งเมืองของตนอยู่ในแคว้นต่าง ๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ กล่าวคือ ขณะนั้นได้มีคนไทยชาวอพยพ พากันลงมาทำมาหากิน อยู่ตามเมืองต่าง ๆ มากแล้ว เมืองที่คนไทยมาอาศัยอยู่นั้นมีเมืองใหญ่ 2 แห่ง คือ เมืองอโยธยา ในแคว้นละโว้ และเมืองอู่ทอง ในแคว้นสุวรรณภูมิ ต่อมาพวกขอมได้ขยายอำนาจเข้ามาปกครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยอาณาจักรทวาราวดี จึงตั้งศูนย์กลางดูแลอยู่ที่ เมืองละโว้ จึงทำให้บรรดาคนไทยที่อยู่ในเมืองอโยธยา เมืองละโว้ ดังกล่าวนั้นอยู่ในความดูแลของพวกขอม ที่ครองเมืองละโว้ไปด้วย

ครั้น เมื่อคนไทยทางตอนเหนือนำโดยพ่อขุนบางกลาวหาว และขุนผาเมือง ได้ร่วมกันทำการขับไล่อำนาจขอม จากขอมสบาดโขลญลำพง และทำการตั้งเมืองสุโขทัยประกาศตนเป็นแคว้นอิสระ เมื่อ พ.ศ. 1800 นั้น เมืองสุโขทัยได้จัดตั้งแคว้นต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในอำนาจของขอมใหม่ เป็นเมืองพระยามหานคร คือเป็นเมืองที่มีเจ้าครองเมือง

เมือง พระยามหานคร ในดินแดนทางตอนใต้นั้น คือ แคว้นอโยธยา มีเมืองแพรกหรือเมืองสรรค์(เมืองตรัยตรึงส์) เป็นราชธานี (เดิมนั้นเมืองอโยธยาขึ้นกับเมืองละโว้) และแคว้นสุวรรณภูมิ มีเมืองอู่ทอง เป็นราชธานี

เจ้า ผู้ครองแคว้นดังกล่าวนั้น น่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ที่อพยพลงมาพร้อมกับพระเจ้าไชยศิริ โดยพระเจ้าไชยศิรินั้นได้อพยพมาตั้งอยู่ที่เมืองแปบ ซึ่งเป็นเมืองร้าง (เมืองร้างนี้ น่าจะเป็นเมืองนครปฐมโบราณมากกว่าเมืองเก่าทางเมืองกำแพงเพชร) อยู่ในแคว้นสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองอู่ทอง ที่เป็นราชธานี

ต่อ มานั้น พระเจ้าไชยศิริได้ทำการขยายอาณาเขตไปทางตอนใต้ จนได้ปกครองแคว้น ศิริธรรมราชครั้งนั้น พระเจ้าไชยศิริได้ตั้งเมืองนครศิริธรรมราช (นครศรีธรรมราช) ขึ้นเป็นราชธานีปกครองแคว้นดังกล่าว โดยมีกษัตริย์ครองแคว้นศิริธรรมราชต่อมาหลายรัชกาล จนถึง พระเจ้าศิริธรรมราชผู้เป็นพระอัยการของพระเจ้าอู่ทอง

พระ เจ้าศิริธรรมราช นั้น มีพระโอรสชื่อ พระเจ้าศิริชัย (หรือศรีวิชัย) ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1856 นั้น พระเจ้าศิริชัยองค์นี้ได้อภิเษกกับพระธิดาองค์เดียวของ พระยาตรัยตรึงส์ กษัตริย์ครองแคว้นอโยธยา (มีราชธานีอยู่เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ คือ เมืองตรัยตรึงส์ และเมืองอโยธยา เป็นเมืองท่า) ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับอาณาจักรละโว้ของขอม ต่อมาพระเจ้าชัยศิริเชียงแสนนั้นมีพระโอรสระยะแรกไม่ปรากฏ ภายหลังเรียก พระเจ้าอู่ทอง (หลังจากที่อภิเษกและไปอยู่เมืองอู่ทอง แคว้นสุวรรณภูมิ)

ดัง นั้น พระเจ้าอู่ทอง จึงเป็นนามมงคลที่เกิดขึ้นในธรรมเนียมของ แคว้นสุวรรณภูมิ และพระเจ้าอู่ทององค์นี้เป็นทายาทที่สืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าไชยศิริ กษัตริย์ราชวงศ์ชัยปรากการ (เชียงราย) มาจนถึง พระเจ้าศิริชัยหรือศรีวิชัย

พระ เจ้าศิริชัย องค์นี้ครองอยู่แคว้นศิริธรรมราช ทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ครั้นเมื่อพระยาตรัยตรึงส์ กษัตริย์แคว้นอโยธยา ผู้เป็นพระบิดาของพระมเหสีนั้นได้สิ้นพระชนม์ ลง พระเจ้าศิริชัยเชียงแสนจึงได้ครองแคว้นอโยธยาด้วย

เมื่อ พระเจ้าอู่ทอง มีพระชนม์ 19 พรรษา (ราว พ.ศ.1876) นั้น พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน พระบิดาจึงได้สู่ขอพระธิดาของพระยาอู่ทอง แคว้นสุวรรณภูมิ มาอภิเษกสมรส และพระเจ้าชัยศิริเชียงแสน ยอมให้พระเจ้าอู่ทองไปอยู่ช่วยราชการที่เมืองอู่ทองนั้น น่าจะมีเหตุให้ช่วยดูแล แคว้นอโยธยาด้วย ด้วยเหตุที่พระเจ้าอู่ทองนั้นได้ช่วยเหลือราชการบ้านเมืองและไว้วางใจในความ สามารถ ทำให้พระยาอู่ทอง ไว้วางใจยิ่ง ส่วนขุนหลวงพะงั่ว พระโอรสของพระยาอู่ทอง และพระเชษฐาของพระมเหสีของพระเจ้าอู่ทองนั้น น่าจะครองเมืองสรรค์บุรีอยู่

ต่อ มาพระเจ้าแสนเมืองมิ่ง เจ้าเมืองมอญได้ยกทัพมาตีเอาเมืองทะวาย เมืองตะนาวศรี ครั้งนั้น พระเจ้าอู่ทองจึงได้แสดงความสามารถนำทัพไปตีเอาเมืองทวาย กับเมืองตะนาวศรี กลับคืนมาได้ ทำให้ได้รับการยกย่องรักใคร่ของอาณาประชาราษฎร์ ครั้นเมื่อพระยาอู่ทอง กษัตริย์แคว้นสุวรรรภูมิสิ้นพระชนม์ลงราษฎร์จึงพากันยกให้พระเจ้าอู่ทอง ขณะนั้นมีพระชนม์พรรษา 30 ปี ครองแคว้นสุวรรณภูมิต่อมา (ทำไมขุนหลวงพระงั่ว ไม่ได้ครองเมืองสุวรรณภูมิ)

ครั้น เมื่อพระเจ้าชัยสิริเชียงแสน พระบิดาสิ้นพระชนม์ลงอีก พระเจ้าอู่ทอง พระโอรสจึงได้ครองแคว้นศิริธรรมราชและแคว้นอโยธยา ในที่สุด และรวมทั้งแคว้นสุวรรณภูมิ ด้วย (ภายหลังโปรดให้ ขุนหลวงพะงั่ว ครองเมืองสุพรรณบุรี) ถือว่าเป็นการรวบรวมอาณาจักรทั้งสามแคว้นขึ้นเป็นอาณาจักร โดยใช้เมืองอู่ทอง เป็นราชธานี ตามเดิม ซึ่งมีความหมายว่า สุวรรณภูมิ โดยมีแม่นำสายใหญ่ คือ แม่น้ำท่าจีนเป็นทางออกสู่ทะเลที่เมืองนครปฐมโบราณ โดยเป็นเมืองท่าหรือศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บริเวณเมืองอู่ทองหรือแคว้นสุวรรณภูมิ จึงเป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของแคว้นสุพรรณภูมิ ที่มีพ่อค้าชาวจีนเดินทางไปมาค้าขายและตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน

พระ เจ้าอู่ทองนั้นมีพระโอรสองค์หนึ่ง (ไม่ปรากฏชื่อในตอนแรก ภายหลังได้ เป็นพระราเมศวร ตำแหน่งพระอุปราชต่อมา พระเจ้าอู่ทองนั้น ได้อพยพผู้คนมาจากเมืองอู่ทอง (บ้างอ้างว่ากันดารน้ำและเกิดโรคระบาด) มาตั้งอยู่ที่ตำบล เวียงเหล็ก พออยู่ได้ 3 ปี ใน พ.ศ.1893 จึงย้ายสถานที่ข้ามแม่น้ำ เจ้าพระยาไปทำการสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นที่ตำบลหนองโสน

ใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ได้ระบุว่า เมื่อ พ.ศ.1893 นั้น ได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ (อาจจะเป็นอหิวาตกโรคหรือ กาฬโรค เพราะระหว่างปี พ.ศ.18781893 (ค.ศ.13351350 ) ได้เกิดกาฬโรคโคจรจากเมืองจีน และได้ระบาดไปทั่วโลก) ทำให้ต้องมีการย้ายเมืองจากด้านตะวันออกมาสร้างใหม่ที่หนองโสน ส่วนเหตุที่ทำให้พระเจ้าอู่ทองย้ายเมืองจากตำบลเวียงเหล็ก มาสร้างกรุงศรีอยุธยา นั้นมีข้อสันนิษฐานว่า พระเจ้าอู่ทองนั้นได้ครองเมืองเทพนคร (เมืองอโยธยา) อยู่ 6 ปีด้วย

ส่วน เรื่องที่รับรู้กันมาว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองครองเมืองอู่ทอง พ.ศ. 1889 นั้น พอครองเมืองได้ 1 ปี (พ.ศ.1890) ก็เกิดภาวะธรรมชาติกล่าวคือ ลำน้ำจระเข้สามพันที่ผ่านเมืองอู่ทอง นั้นได้เกิดตื้นเขิน และเปลี่ยนทางน้ำ จนกันดารน้ำต้องขุดบ่อ สระขังน้ำไว้ใช้ในไม่ช้าก็เกิดโรคระบาดดังกล่าวขึ้น (ซึงมาทางเรือสินค้าจากจีน) โดยเข้ามาตามแม่น้ำท่าจีน) พระเจ้าอู่ทอง จึงอพยพย้ายผู้คนมาตั้งเมืองอยู่บริเวณแคว้นอโยธยา คือ ตำบลเวียงเหล็ก เมื่อ พ.ศ.1890 และเมืองอู่ทองนั้น คงไม่ถูกทิ้งร้างยังมีผู้คนอาศัยอยู่ เป็นข้อสันนิษฐานเดิมที่เชื่อกันเช่นนี้

ดัง นั้น เรื่อง การย้ายเมืองของพระเจ้าอู่ทอง จึงมีข้อศึกษาใหม่ว่า พระเจ้าอู่ทองนั้น น่าจะดำริถึง อาณาจักรใหม่ที่พระองค์ได้รรับสิทธิปกครองดูแลนั้น คือ แคว้นสุวรรณภูมิ (ของมเหสี) แคว้นอโยธยา (ของมารดา) แคว้นศิริธรรมราช (ของบิดา) ซึ่งแต่ละแคว้นนั้นต่างมีเมืองสำคัญ ตั้งอยู่ห่างไกลกันมาก หากจะให้เมืองอู่ทองเป็นราชธานีของแคว้นทั้งหมด ก็มีทำเลไม่เหมาะสม ด้วยเหตุที่เมืองอู่ทองนั้น ไม่เป็นศูนย์กลางที่จะดูแลแคว้นนั้นได้สะดวก และมีแม่น้ำใหญ่เพียงสายเดียว ทำให้ขัดข้องในการติดต่อกับแคว้นอื่น ๆ ได้

พระองค์ จึงได้ทำการอพยพ ผู้คนสำรวจสถานที่สร้างเมืองใหม่ขึ้น เพื่อหาทำเลที่จะตั้งเมือง ให้เป็นศูนย์กลางอาณาจักรที่สามารถปกครองดูแลหรือติดต่อถึงกันได้โดยสะดวก ขึ้น โดยเฉพาะทำเลที่มีแม่น้ำหลายสาย ไหลผ่านและใช้เป็นเส้นทางที่จะติดต่อไปยังเมืองใหญ่ของแคว้นทั้งหมดได้ คือ เมืองนครศิริธรรมราช(เมืองนครศรีธรรมราช) เมืองอู่ทอง (ภายหลังย้ายมาสร้างเมืองสุพรรณบุรี) เมืองสรรค์บุรี (เมืองแพรก ) เมืองชัยนาท เมืองอโยธยา เมืองละโว้ เมืองนครปฐมโบราณ (เมืองนครไชยศรี) เป็นต้น

ประกอบ กับเมืองอโยธยาเดิมนั้น มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรีไหลผ่านและเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อยู่แล้ว ในครั้งแรกนั้นพระเจ้าอู่ทองได้กลับมาครองแคว้นอโยธยาอยู่ 6 ปี ก็เห็นว่าที่ตำบลเวียงเหล็ก นั้นน่าจะเป็นทำเลสร้างเมืองใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองทั้ง 3 แคว้น นั้นได้ จึงอพยพไปตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็กก่อน (ส่วนเมืองอโยธยานั้นได้ให้เจ้าแก้วเจ้าไทย ครอง) ครั้นอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็ก 3 ปี จึงเห็นว่าบริเวณตำบลหนองโสนนั้น มีทำเลเหมาะสมกว่าและเป็นพื้นที่มีลักษณะเหมือนสังขทักษิณาวรรตที่มีแม่น้ำ 3 สายไหลออกดุจน้ำไหลออกจากสังข์ และเป็นแม่น้ำที่ใช้ เป็นเส้นทางติดต่อได้ สะดวกกว่าที่เดิม (เมืองอโยธยา) ประจวบกับเวลานั้นเกิดโรคอหิวาระบาดใหญ่ จนเป็นเหตุให้เจ้าแก้วเจ้าไทยสิ้นพระชนม์ (จนเมืองอโยธยาร้างผู้คน) พระองค์จึงตัดสินพระทัยอพยพมาสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลหนองโสน

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์


ประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
                      ตามพงศาวดาร และคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์  ได้กล่าวไว้ว่าพ่อขุนศรี  อินทราทิตย์มีพระนามเต็ม  คือ  กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์  พระนามเดิม  พ่อขุนบางกลางหาว (ไม่ใช่  กล่างท่าว)  ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย  ครองราชย์สมบัติ  ตั้งแต่  พ.ศ.  1782 - 1822 (30 ปี คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตรตามข้อเสนอของ  ศ.ประเสริฐ  ณ  นครและ  พ.อ.พิเศษ  เอื้อนมณเฑียรทอง)                         เมื่อ จุลศักราช 536 พระเจ้าสุริยราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ได้ทรงตบแต่งซ่อมแซมแปลงเมืองพิจิตรปราการ(กำแพงเพชร)ขึ้นใหม่ครองราชย์ สมบัติต่อไป มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า สิริสุธาราชเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระอัครมเหสี ทรงพระนามว่าจันทกุมารพระเจ้าสุริยราชา เมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนม์ได้ 20 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 28 ปี เสด็จสวรรคตพระชนม์ได้ 47 พรรษา พระองค์ประสูติวันจันทร์ จุลศักราช 570 พระจันทกุมารราชโอรส ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าจันทรราชาและตามพระราชพงศาวดารโยนก หน้า 80 วรรค 2 กล่าวไว้ว่ายังมีข้อความในหนังสือชินกาลมาลินี กล่าวถึงมูลประวัติของพระเจ้าโรจนราชผู้ได้ พระพุทธสิหิงค์มาจากศรีธรรมนครนั้นว่า บุรุษผู้หนึ่งหลงป่าที่บริเวณ บ้านโคณคาม(เข้าใจว่าบ้านโคนริมเมืองเทพนคร)และได้พบนางเทพธิดาแปลงเป็น มนุษย์(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)มาร่วมสมัครสังวาสเกิดบุตรได้มาเป็นเจ้ากรุง สุโขทัยทรงนามว่า โรจราช
                           ประวัติพระองค์ท่านจากคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์  หน้า  112-113  ตอนหนึ่งกล่าวถึงการประสูติของพระองค์ ได้ยินว่าที่บ้านโค  (บ้านโคน จังหวัดกำแพงเพชร  ในปัจจุบัน)  ยังมีชายคนหนึ่ง(จันทราชา)รูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า  มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)เห็นชายคนนั้นแล้ว  ใคร่ร่วมสังวาสด้วยจึงแสดงมารยาหญิง  ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น  เนื่องจากการร่วมสังวาสของทั้งสองคนนั้นจึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง  และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก  รูปงาม  เพราะฉะนั้น  ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น  บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า  โรจราช    ภายหลังปรากฏพระนามว่าพระเจ้าล่วง 
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ทั้งหมดเชื่อได้ว่า  เมืองคณฑีโบราณ  หรือตำบลคณฑี 
จังหวัดกำแพงเพชร  ในปัจจุบันนั้นอยู่ในอาณาจักร  สุโขทัย  เนื่องจากพระเจ้าสุริยราชา  (พระอัยกาของ  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ )  ครองราชย์สมบัติที่เมืองพิจิตปราการ  (เมืองกำแพงเพชร  ปัจจุบัน) หลังจากนั้นก็เสด็จสวรรคตและต่อมาพระจันทกุมารราชโอรส  (พระเจ้าจันทรราชา  พระราชบิดา  ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์)  ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติต่อ  ระหว่างนี้เกิดปาฏิหาริย์หลายสิ่งมากมายจนกระทั่งได้มเหสีเป็นเชื้อชาตินางนาคกุมารี  และมีพระราชโอรสคือ  พระร่วง  (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์)  นั่นเอง  เพราะอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าเชื่อถือคือ  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์  ชินกาลมาลีปกรณ์  ว่า  บ้านเดิมของพระองค์อยู่ที่ 
บ้านโคน ในจังหวัดกำแพงเพชร  พระองค์ทรงนำชนชาติไทยต่อสู้กับชนชาติขอมซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในสุวรรณภูมิ  อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงกรุงสุโขทัยด้วย  ทรงได้ชัยชนะขอมและประกาศอิสรภาพ  ตั้งราชอาณาจักรสุโขทัย  ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกและเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง-             เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย
ส่วนพระราชกรณียกิจที่สำคัญพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เมื่อครั้งยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาวได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง  เจ้า  เมืองราด 
แห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถมรวมกำลังพลกัน  กระทำรัฐประหารขอมสบาดโขลญลำพง  โดยพ่อขุนบางกลางหาวตีเมือง  ศรีสัชนาลัย  และเมืองบางขลงได้  และยกทั้งสองเมืองให้พ่อขุนผาเมือง  ส่วนพ่อขุนผาเมืองตีเมืองสุโขทัยได้  ก็ได้มอบเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาว  พร้อมพระขรรค์ชัยศรีและยกพระกนิษฐา(นางเสือง)ให้เป็นมเหสีอีกด้วยส่วนพระนาม 
ศรีอินทรบดินทราทิตย์”  ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม  ภายหลังได้กลายเป็น  ศรีอินทราทิตย์  โดยคำว่า บดินทรหายออกไป  เชื่อกันว่าเพื่อเป็นการแสดงว่ามิได้  เป็น  บดีแห่งอินทรปัต  คืออยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร  (เมืองอินทรปัต)  อีกต่อไป การเข้ามาครองสุโขทัยของพระองค์  ส่งผลให้  ราชวงศ์พระร่วง  เข้ามามีอิทธิพลในเขตนครสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น  และได้แผ่ขยายดินแดนกว้างขวางมากออกไป  แต่เขตแดนเมืองสลวงสองแคว  ก็ยังคงเป็นฐานกำลังของราชวงศ์ศรีนาวนำถมอยู่ในกลางรัชสมัย  ทรงมีสงครามกับขุนสามชน  เจ้าเมืองฉอด  ทรงชนช้างกับขุนสามชน  แต่ช้างทรงพระองค์  ได้เตลิดหนีดังคำในศิลาจารึกว่า  หนีญญ่ายพ่ายจแจขณะนั้นพระโอรสองค์เล็ก  ทรงมีพระปรีชาสามารถ  ได้ชนช้างชนะขุนสามชนภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่า  รามคำแหงในยุคประวัติพ่อขุน
ศรีอินทราทิตย์มีพระราชโอรสและพระธิดารวม  5 พระองค์  ได้แก่
1.       พระราชโอรสองค์โต  (ไม่ปรากฏนาม)  เสียชีวิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
2.       พ่อขุนบานเมือง
3.       พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  (พระนามขณะที่ยังทรงพระเยาว์ไม่ปรากฏ)
4.       พระธิดา  (ไม่ปรากฏนาม)

5.       พระธิดา  (ไม่ปรากฏนาม)

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระราชประวัติ
ตราพระราชลัญจกร พระบรมราชโองการสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกัลยาณี อัครราชเทวี พระราชมารดาเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อ วันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๗๕ และทรงมีพระนมอยู่พระองค์หนึ่งคือ เจ้าแม่วัดดุสิต ทรงเป็นพระอนุชาใน สมเด็จเจ้าฟ้าไชย และยังทรงมีพระอนุชาอีกได้แก่

เจ้าฟ้าอภัยทศ
พระไตรภูวนาทิตยวงศ์
พระองค์ทอง และ
พระอินทราชา
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระขนิษฐาร่วมพระชนนีองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ กรมหลวงโยธาทิพในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระองค์มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้านรินทร์" แต่เมื่อขึ้นพระอู่ พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "พระนารายณ์" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์  พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหารย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อนๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหารย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ  เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ ๕ พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย  เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ ๙ พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี   สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร
      พระราชานุสาวรีย์ องค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนามเต็มตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา "สมเด็จพระบรมราชาธิราชธิบดีศรีสรรเพชญ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชราเมศวร ธรรมธราธิบดี ศรีสฤฎิรักษสังหารจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดีดินทร หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีวิบุลยคุณอกนิฐ จิตรรุจีตรีภูวนาทิตย์ ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร์ ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงศ์องค์เอกาทศรสรุทร์ วิสุทธยโศดม บรมอาชวาธยาศรัย สมุทัยตโรมนต์ อนนตคุณวิบุลยสุนทรบวรธรรมมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนาถบดินทร์ วรินทราธิราชชาติพิชิต ทิศพลญาณสมันตมหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอศวรรยาธิบัติขัตติยวงศ์ องค์ปรมาธิบดีตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธ มกุฎรัตนโมฬี ศรีปทุมสุริยวงศ์ องค์สรรเพชญ์พุทธางกูร บรมบพิตร"

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ข้อมูลส่วนพระองค์
พระปรมาภิไธย  สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒
วันพระราชสมภพ พ.ศ. ๒๐๙๘
วันสวรรคต     ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘
พระอิสริยยศ    พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระราชบิดา    สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระราชมารดา  พระวิสุทธิกษัตรีย์

การครองราชย์
ราชวงศ์      ราชวงศ์สุโขทัย
ทรงราชย์     ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ - ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘
ระยะเวลาครองราชย์ ๑๕ ปี
รัชกาลก่อนหน้า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
รัชกาลถัดมา   สมเด็จพระเอกาทศรถ
พระบาทสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ (พระนเรศวรมหาราช)
       มีพระนามเดิมว่าพระองค์ดำพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระ
ศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระองค์เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลกทรงมีพระเชษฐภคิณีคือพระสุพรรณกัลยาทรงมีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ(องค์ขาว) และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช พระนเรสส องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช เป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ รวมพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษาราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจ
ของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิคทางด้านตะวันออก ทาง
ด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทยใหญ่บางรัฐพระองค์ได้ทำสงครามเข้าไปในประเทศที่เป็นข้าศึกของไทย ในทุกทิศทาง จนประเทศไทยอยู่เป็นปกติสุขปราศจากศึกสงคราม เป็นระยะเวลายาวนาน พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้น
ทั้งปวงของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอด มิได้ว่างเว้น แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต ก็
เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทย นับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์ เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมา ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ของพระองค์ และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทอดทูลไว้เหนือเกล้า ฯ ไปตราบชั่วกาลนาน

พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์กับชีวิตและการศึกษาในหงสาวดี
 ตลอดระยะเวลาในวัยเยาว์ของพระนเรศวรทรงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
เจ้าเมืองพิษณุโลกยอมอ่อนน้อมต่อแห่งหงสาวดี และทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชหงสาวดีไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองได้ทรงขอพระนเรศวรไปเป็น
องค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนม์มายุเพียง ๙พรรษานอกจากพระองค์แล้วยังมีองค์ประกันจากเมืองอื่น ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีเป็นจำนวนมาก พระเจ้าบุเรงนองนั้นทรงให้เหล่าองค์ประกันได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดี พระนเรศวรทรงใช้เวลา ๘ปีเต็มในหงสาวดีศึกษายุทธศาสตร์ของพม่า พระองค์ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา
ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาวต่างชาติต่าง ๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี เช่น ชาวโปรตุเกส สเปน หรือชาวพม่าเอง ทรงนำ
หลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมในการทำศึกได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้ ได้แก่ การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีการรบแบบกองโจร พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การ
ดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ ความเด็ดขาดในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ
และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด เนื่องจากการที่พระองค์มีชีวิตอยู่ในฐานะองค์ประกันทำให้ทรงมีความกดดันสูงจากมังกะยอชวา (พระราชโอรสในพระเจ้านันทบุเรง) จึง
ทรงมีแรงผลักดันที่จะกอบกู้อิสรภาพให้กับบ้านเมืองของพระองค์ เช่น จากการชนไก่ของพระองค์กับมังกะยอชวา เป็นต้น รวมทั้งการเหยียดหยามว่าเป็นเชลย จากพวกพม่าด้วย

สมเด็จพระเจ้าตากสิน

  















เดิมชื่อสิน เป็นบุตรขุนพัฒน์ นายอากรบ่อนเบี้ย (นายไหฮอง แซ่แต้) และนางนกเอี้ยง เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๖๙ ปีขาล ฉอศก ตรงกับวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ณ กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระยาจักรีตำแหน่งสมุหนายกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ให้ชื่อว่า “สิน”
      อายุ ๒๑ ปี รับราชการเป็นมหาดเล็ก ตำแหน่งหลวงนายศักดิ์ ได้รับความชอบเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก แล้วเป็นเจ้าเมืองตาก ต่อมาได้ชื่อว่า พระยาตากสิน ได้รับตำแหน่งเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพ็ชร และดำรงตำแหน่งเป็น พระยาวชิรปราการ ในรัชการสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ยังไม่ทันได้ดูแลเมืองกำแพงเพ็ชรต่างพระเนตรพระกรรณ พม่าก็ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา จึงจำเป็นต้องช่วยป้องกัน
    
พระยาวชิรปราการ (พระยาตากสิน) ช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องจากความอ่อนแอในการปกครองภายในกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเหตุให้พระยาวชิรปราการหนีออกจากกรุงศรี ฯ เพื่อหาโอกาสกลับไปต่อสู้กู้ชาติคืนมาอีกครั้ง ดีกว่าจะอยู่และตายอย่างอดสู ครั้นถึงวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ ครั้นได้เวลาค่ำมืด พระยาวชิรปราการรวบรวมไพร่พลประมาณ ๕๐๐ คน พร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก) เป็นทหารกล้าตายตีฝ่าวงล้อมพม่ามุ่งทิศตะวันออก ฆ่าพม่าที่ติดตามตายเป็นจำนวนมาก นำไพร่พลต่อสู้พม่าระหว่างทาง เคลื่อนทัพผ่านเมืองต่าง ๆ ได้เกลี้ยกล่อมหัวหน้านายกอง บางพวกยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี เพราะกิตติศัพท์เลื่องลือจากการสู้รบกับพม่า มุ่งตรงปราจีนบุรี, นครนายก, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, บางละมุง, ระยอง, แกลง, จันทบุรี และ_____แล้วมาตั้งชุมพลรวบรวมไพร่พล ศาสตราวุธ เสบียงอาหาร และเรือรบอยู่ที่จันทบุรี พระยาตากสินได้สถาปนาตนเองโดยพระประศาสน์ ไม่ใช่พระบรมราชโองการเมื่อตีเมืองระยองได้จึงจำเป็นต้องตั้งตัวเป็นใหญ่ตามเลยแห่งเหตุการณ์ พวกบริวารจึงเรียกว่า “พระเจ้าตาก” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
    
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำทัพผ่านเมืองแกลง ขุนรามหมื่นซ่องก็นำพรรคพวกปล้น แย่งช้าง ม้า ของพระองค์ พระองค์จึงทรงพิจารณาว่าไม่มีทางอื่นเสียแล้ว มีแต่จะต้องใช้กำลังปราบปรามพวกที่เป็นศัตรูจึงจะตั้งตัวอยู่ได้ จึงยกทัพไปรบกับพวกขุนรามหมื่นซ่อง ที่เมืองแกลงก่อน ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้ก็พาสมัครพรรคพวกไปอยู่กับพระยาจันทบุรี พระองค์ทรงพิจารณาว่า ไม่มีจังหวัดใดที่เหมาะสำหรับรวบรวมไพร่พลกลับไปกู้ชาติที่กรุงศรีอยุธยาคืนมาได้ เท่ากับจังหวัดจันทบุรี เพราะมีพลเมืองมาก เป็นทำเลที่จะสะสมเสบียงอาหาร ศาสตราวุธ จึงทรงสั่งเคลื่อนทัพเข้าสู่จันทบุรีครั้งแรกได้มีการใช้ฑูตติดต่อกับเจ้าเมืองจันทบุรี คาดว่าจะตกลงกันได้โดยไม่ต้องใช้กำลัง แต่ภายหลังเจ้าเมืองจันทบุรีเปลี่ยนใจไม่ตกลงด้วย อันเป็นเวลาเดียวกับ เนเมียวสีหบดี ที่ค่ายโพธิ์สามต้นส่งนายบุญเรือง มหาดเล็กผู้รั้งเมืองบางละมุง ถือหนังสือมาให้เจ้าเมืองจันทบุรี เข้าไปอ่อนน้อมแก่พม่าเสียโดยดี พอดีได้ข่าวว่า นายทองอยู่ นกเล็ก ตั้งแข็งเมืองขึ้นที่ชลบุรีอีก พระองค์จึงทรงนำทัพกลับไปที่ชลบุรี ปราบปรามจนชลบุรีสงบแล้วตั้งนายทองอยู่ นกเล็ก เป็นพระยาอนุราฐบุรีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี แล้วทรงนำทัพมุ่งตรงไปจันทบุรีต่อไป พระองค์ทรงนำทัพถึงบางกะจะหัวแหวนห่างจากเมืองจันทบุรี ประมาณ ๒๐๐ เส้น (๘ กิโลเมตร) พระยาจันทบุรีให้หลวงปลัดออกไปรับ และบอกว่าได้จัดที่พักไว้ให้แล้วที่ทำเนียบ ที่พักริมน้ำข้างฟากทิศใต้ตรงข้ามเมืองจันทบุรี พระองค์ทรงสั่งให้นายทัพตามหลวงปลัดไปมีผู้บอกว่า พระองค์กำลังถูกกลลวงที่กำลังจะตามหลวงปลัดข้ามฟากไป ทันที่พระองค์จึงทรงสั่งให้เลี้ยวขบวนทัพไปทางเหนือไม่ข้ามปากน้ำ ผ่านบ้านชะมูลตรงไปประตูท่าช้าง ห่างจากประตูท่าช้าง ๕ เส้น (๒๐๐ เมตร) พระยาจันทบุรี เห็นพระองค์ไม่ข้ามฟากตามประสงค์ที่ลวงไว้ กลับมาตั้งชุมพลที่ริมเมือง ก็ตกใจ รีบให้ไพร่พลขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทิน พระองค์ได้ทรงต่อว่าพระยาจันทบุรีว่าไม่บริสุทธิ์ใจที่จะช่วยกันคิดอ่านกู้กรุงศรีอยุธยาและยังไม่ออกไปต้อนรับ ทั้งที่ขณะนั้นก็มีศักดินาน้อยกว่า (เมื่อเทียบกับพระองค์ซึ่งเป็นพระยากำแพงเพ็ชร) และไม่ซื่อคบกับขุนรามหมื่นซ่องทำร้ายพระองค์ถึง ๒ ครั้งกับเรียกระดมคนเข้าประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน แสดงถึงไม่เป็นมิตร ไม่เป็นพี่น้อง จึงทรงรับสั่งคนให้ไปบอกพระยาจันทบุรี เมื่อไม่เห็นแก่ไมตรีแล้วจงรักษาเมืองไว้ให้ดีเถิด เราจะเข้าตีให้จงได้ ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตกอยู่ในที่คับขันเพราะเข้ามาตั้งอยู่ในชานเมือง ข้าศึกอยู่ในเมืองมีกำลังมาก เป็นแต่ข้าศึกครั่นคร้ามเกรงฝีมือ ไม่กล้าออกมาโจมตีซึ่งหน้า แต่หากพระองค์ทรงล่าถอยทัพเมื่อใด ก็อาจจะออกล้อมตีตัดได้หลายทาง เพราะข้าศึกชำนาญภูมิประเทศกว่า จะตั้งชุมพลทัพอย่างนั้นก็ไม่มีเสบียงอาหารเหมือนหนึ่งคอยให้ข้าศึกเลือกเวลาทำเอาตามใจชอบ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นนักรบมาแต่เยาว์วัยทรงรู้เชิงข้าศึกดีจึงต้องชิงทำข้าศึกก่อนจึงจะไม่เสียที จึงเรียกแม่ทัพนายกอง มาสั่งว่า เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้เมื่อหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้ว ทั้งนายและไพร่ให้เทอาหารที่เหลือทิ้งและต่อยหม้อข้าวเสียให้หมดหมายไปกินข้าวเข้าด้วยกันในเมืองพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองจันท์ไม่ได้ ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันทั้งหมด นายทัพนายกองเคยเห็นอาญาสิทธิ์มาก่อน ไม่มีใครกล้าขัดขืน ครั้นเพลาค่ำพระองค์ทรงให้ทหารลอบไปซุ่มมิให้ชาวเมืองรู้ตัว ทรงสั่งให้คอยฟังสัญญาณเสียงปืนให้เข้าตีพร้อมกัน อย่างให้ส่งเสียงอื้ออึงครั้นเตรียมพร้อมเสร็จได้ฤกษ์เวลาตี ๓ นาฬิกา สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงช้างพังคีรีบัญชรทรงสั่งให้ยิงปืนเป็นสัญญาณบอกพวกทหารเข้าตีพร้อมกัน ทรงช้างเข้าพังประตูเมือง แม้ว่าพระยาจันทบุรีจะยิงปืนใหญ่และปืนเล้กต่อสู้อย่างเต็มกำลังก็ตาม พวกทหารของสมเด็จพระเจ้าตากสินก็กรูกันเข้าเมือง ชาวเมืองจันทบุรีรู้ข่าวว่าข้าศึกเข้าเมืองได้แล้วต่างก็ละหน้าที่พากันแตกหนีสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำทัพตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว ทรงเมตตาอารีมิได้ถือโทษผู้ที่เป็นศัตรูมาก่อน ทรงตีเมืองจันทบุรีได้เมื่อวันอาทิตย์เดือน ๗ แรม ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุลนพศก ตรงกับวันที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๒ เดือน ครั้นเมืองจันทบุรีเรียบร้อยอย่างเดิมแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงนำทัพไปยังเมืองตราด กรมการเมืองและราษฎรพากันเกรงกลัว อ่อนน้อมโดยดีทั่วเมือง พวกนายเรือและลูกเรือสำเภาจีนที่เมืองตราดไม่ยอมอ่อนน้อมด้วยกลับเอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงเรือพระที่นั่ง สมเด็จพระเจ้าตากสิน รบกันครึ่งวันก็ตีเรือสำเภาจีนได้ ได้ทรัพย์สินเป็นกำลังต่อการทัพเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงจัดการเมืองตราดเรียบร้อยแล้ว ทรงนำทัพกลับเมืองจันทบุรี พระองค์ทรงรวบรวมไพร่พลได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คน ต่อเรือรบได้ประมาณ ๑๐๐ ลำ รวบรวมศาสตราวุธได้จำนวนมาก ทรงวางแผนกลยุทธที่จันทบุรี เพื่อที่กอบกู้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมา นับว่าเมืองจันทบุรี และชาวเมืองจันทบุรีเกื้อกูลต่อพระองค์เป็นอย่างมาก ในการที่กู้ชาติไทยครั้งนี้กลับคือมาได้ ครั้นเดือน ๑๑ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๑๐ พระองค์ทรงนำทัพเรือ ออกจากจันทบุรี มุ่งหน้าสู่อ่าวไทยเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติไทยทรงนำทัพเรือผ่านชลบุรีพักที่ชลบุรี และรวบรวมไพร่พลเป็นการเพิ่มเติมกำลังแล้วทรงนำทัพเข้าปากน้ำสมุทรปราการเข้าถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น อันมีนายสุกื้ (ชาวมอญ) อาสาพม่า ต่อสู้จนนายสุกี้ตายในที่รบ ทหารพม่าล้มตายในที่รบเป็นจำนวนมาก
    
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำทัพตีพม่า นำชัยชนะกลับคืนมาได้ กู้กรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราชได้เมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก ตรงกับวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐
   ครั้นทรงกู้กรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราชได้แล้วก็ทรงเสวยราชย์ปราบดาภิเศก ตรงกับวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ สัมฤทธิ์ศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๑ เป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
    
พระองค์ทรงมีทะแกล้วทหารหาญคู่พระทัยหลายคน เช่น พระยาพิชัยราชา (พระยาพิชัยดาบหัก) พระยาสุรสีห์ หรือนายสุดจินดา หรือพระยามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และบรรพบุรุษต้นตระกูลชาวไทยและต้นตระกูลชาวจันทบุรีมิใช่น้อยได้ร่วมชีวิตสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระเจ้าตากสิน กู้ชาติ ศาสนาที่ล่มจมเป็นวิบัติครั้งนี้กลับคืนมาจากพม่าได้ด้วยการสู้รบกับพม่าอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ด้วยการเสียสละอดทนเอาเลือดเนื้อและความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้ ตลอดรัชกาลของ พระเจ้ากรุงธนบุรี ต้องทำศึกสงครามอีกหลายครั้ง จนปราบปรามชุมนุมที่ตั้งตนเป็นใหญ่ทั่วไปที่เหลืออีก ๕ ชุมนุม คือ
๑. ชุมนุมสุกี้ พระนายกอง เป็นชาวมอญอาสาสมัครพม่าคอยสอดส่องควบคุมและริบทรัพย์สินคนไทยที่แพ้พม่า และคนไทยที่จะกระด้างกระเดื่องแข็งข้อ ตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น กรุงศรีอยุธยา
๒. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีอาณาเขตตั้งแต่พิษณุโลกจรดนครสวรรค์ ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพิษณุโลก
๓. ชุมนุมพระเจ้าพระฝาง ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองอุตรดิตถ์ มีอาณาเขตติดต่อไปจนถึงเมืองแพร่ และหลวงพระบาง
๔. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรถึงมลายู
๕. ชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธ ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพิมายนครราชสีมา พระองค์ทรงปราบปรามจนราบคาบ ต้องปราบปรามอริราชศัตรู และเสี้ยนหนามชาติไทย ทรงบากบั่นอุตสาหะมิได้เป็นแก่ความเหนื่อยยากแต่ประการใดทรงต่อสู้ความยากแค้นซึ่งคุกคามประชาราษฎร์ ต้องปราบปรามผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่ไม่คิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ต้องปราบปรามอริราชศัตรูอยู่เนือง ๆ พระชีวิตของพระองค์ เพื่อชาติและประเทศไทยโดยแท้จริง
    
พระองค์ทรงปกครองไพร่ฟ้า ไพร่บ่าว พลเรือนและทหารด้วยทศพิธราชธรรมดียิ่ง สนิทชิดเชื้อเหมือนกับ “พ่อ” มากกว่าทรงเป็นเจ้านาย ดังข้อความพระราชวิจารณ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ ว่าเมื่อคราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงรับสั่งเมื่อประทับอยู่ที่ค่ายเขาพระ ขณะนั้นกำลังล้อมพม่า บ้านบางนางแก้วทรงกำหนดพระราชอาญาไว้ว่า ผู้ยิงปืน___________ไม่พร้อมกันให้ยิงพร้อมกันทีละสามสิบ สี่สิบนัดตามรับสั่งทรงตรัสแก่ข้าราชการนายทัพนายกองว่า ข้าราชการทั้งปวงพ่อใช้ไห้ไปทำศึกบ้านเมืองใดพ่อมิได้สกดหลังไปด้วย ก็มิสำเร็จราชการ ครั้นพ่อไปราชการสงครามเชียงใหม่ ให้ลูกทำราชการข้างหลังและพ่ายแพ้แก่พม่าให้ขายพระบาทพ่อ อันทำศึกครั้งนี้พ่อจะชิงชัยแก่ลูกผู้ใดหามิได้ รักใคร่เสมอกัน เป็นกษัตราธิราชเจ้าแผ่นดิน ถ้าผู้ใดมีความชอบมิได้ปูนบำเหน็จ ผู้ใดกระทำผิดมิได้เอาโทษ ทำเช่นนี้ก็ไม่ควรแก่ราชการแผ่นดินหามิได้ ประเวณีกษัตราธิราช ผู้มีความชอบปูนบำเหน็จรางวัล ให้รั้งเมืองครองเมือง ตามฐานานุกรมลำดับ โทษผิดควรจะตีก็ตี ควรฆ่าก็ฆ่าเสีย จึงชอบด้วยราชาแผ่นดิน จึงจะทำสงครามกับพม่าได้ พ่ออุตส่าห์ทรมานเที่ยวทำสงครามมา นี้ ใช่จะจงพระทัยปรารถนาหาความสุขแต่พระองค์ เดียวก็หามิได้ อุตส่าห์สู้ลำบากการครั้งนี้ เพื่อทำนุบำรุงศาสนาสมณะชีพราหมณ์ประชาราษฎร ให้เป็นสุขทั่ว ขอบขัณฑ์เสมอ เพื่อมิให้คนอาสัตย์อาธรรม์และครั้งนี้ลูกทั้งหลายทำการแพ้แก่พม่า ครั้นจะเอาโทษก็เสียดายนักด้วยได้เลี้ยงดูมาเป็นใหญ่โตแล้วผิดครั้งนี้จะยกไว้ให้ทำราชการแก้ตัวครั้งหนึ่งก่อน ครั้งต่อไปถ้ารบพม่าแล้วชนะจึงจะพ้นโทษทั้งนายและไพร่เร่งคิดจงตีเถิด อันพ่อจะละกำหนดบทอัยการศึกเสียมิได้ ก็ให้เร่งคิดอ่านทำการแก้ตัวไปให้รอดชีวิตเถิด อีกครั้งเมื่อพระยาตากสินนำไพร่พลตีเมืองชลบุรี ผ่านบางละมุงขณะนั้นนายบุญเรืองมหาดเล็กเป็นผู้รั้งเมืองบางละมุง คุมไพร่ ๒๐ คน ถือหนังสือมาจะเอาลงไปให้พระยาจันทบุรี เดินผ่านมาในแขวงเมืองระยองพวกทหารพระยาตากสินจับได้ซักได้ความว่า เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น มีหนังสือมาบอกให้ พระยาจันทบุรีเข้าไปอ่อนน้อมเสียโดยดี นายทัพนายกองทูลพระยาตากสิน ว่าผู้รั้งเมืองบางละมุงเป็นพวกพม่า ขอให้ประหารชีวิตเสีย พระยาตากสินไม่เห็นชอบด้วยว่าผู้รั้งเมืองบางละมุงตกอยู่ในอำนาจพม่า ก็ต้องยอมให้ใช้มาโดยจำเป็น จะว่าเอาใจไปเผื่อแผ่ข้าศึกหาควรไม่ อีกประการหนึ่ง ผู้รั้งเมืองบางละมุงก็ยังมิได้เป็นข้าของเราจะว่าทำความผิดต่อเราก็ยังไม่ได้ ที่พม่ามีหนังสือมาบังคับพระยาจันทบุรีอย่างนี้ก็ดีแล้ว พระยาจันทบุรีจะได้เลือกเอาอย่างหนึ่งว่า จะไปเข้ากับพม่าหรือเข้ากับไทย พระองค์ทรงปกครองไพร่ราษฎร ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงพระราชดำริพิจารณาถึงเหตุถึงผลด้วยความเป็นธรรมเสมอเป็นพ่อปกครองลูก หาพระทัยลำเอียงมิได้
    
สมเด็จพระเจ้าธนบุรี ทรงครองราชย์ตั้งแต่ วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ประชาราษฎร์มีความสุขโดยถ้วนทั่ว พ้นจากภัยรุกรานพม่ามาจนตราบเท่าทุกวันนี้
     เสด็จสวรรคต
วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ จัตวาศก ตรงกับ วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์ทรงได้รับพระเกียรติเป็น “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ต่อมาด้วยพระบารมีอันมากล้นสุดที่ทวยราษฎร์ไทยจะกล่าวพรรณนาได้ ชาวไทยได้ดำรงความเป็นไทอิสระเสรี เป็นชาติไทยอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็ด้วยพระบารมีของพระองค