พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่าด้วงหรือทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๙๘ หรือวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นบุตรของพระอักษรสุนทร ( ทองดี ) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ กับท่านหยกธิดาเศรษฐี สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) เสนาบดีกรมพระคลัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านเข้ารับราชการครั้งแรกโดยถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ทรงผนวช ณ วัดมหาทลาย เป็นเวลา ๑ พรรษา ทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี เมื่อพระชนมายุ ๒๕ พรรษา
หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าได้ ๑ ปี พระองค์ ได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีในตำแหน่งพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้บ้านเมืองและทำศึกสงครามมากมาย ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ พระองค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบเจ้าพิมาย ภายหลังสงครามครั้งนี้ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๒ ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร (กัมพูชา) ตีได้เมืองพระตะบองและเสียมราฐ ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงครามอย่างมากมาย จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเลื่อนยศเป็นพระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ
เมื่อถึงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราวปีพ.ศ.๒๓๒๔ ขณะสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังไปราชการทัพอยู่ที่เขมร (กัมพูชา) ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างฝ่ายกบฏที่ต้องการควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วออกว่าราชการแทน กับฝ่ายต่อต้านกบฏ ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ เมื่อปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จแล้ว ราษฎรและข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สมเด็จพระอมรินทราพระบรมราชินี เป็นพระบรมราชินีองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่านาค มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๔๒ พระองค์ โดยพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติในพระอัครมเหสีมี ๙ พระองค์ ได้แก่
๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ พระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระราชมารดาในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิด
๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
๕. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแจ่ม ต่อมาได้รับการสถาปนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทร
๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังมหาเสนานุรักษ์
๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเอี้ยง ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวราราม และวัดโมฬีโลกยาราม ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี
การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จศ.๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พศ.๒๓๒๕ และโปรดเกล้าฯให้สร้าง พระบรมมหาราชวัง สืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรา ยุทธยา มหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้ สร้างสิ่งต่างๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการ, คลอง ถนนและสะพานต่างๆ มากมาย
พระราชกรณียกิจด้านการป้องกันประเทศ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด ๗ ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่สงคราม
สงครามครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามเก้าทัพ
สงคราม ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่า โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบ ประเทศไทย จึงรวบรวมไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน กรีธาทัพเข้าตีประเทศไทยโดยแบ่งเป็น ๙ ทัพใหญ่ เข้าตีจากกรอบทิศทางส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง ๗๐,๐๐๐ คนเศษเท่านั้น
ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
สงครามครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๒๙ สงครามท่าดินแดงและสามสบ
ครั้ง นี้ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุดโดยแก้ไขข้อผิด พลาดต่างๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสวนสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ หลังจากรบกันได้ ๓ วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่างๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทยใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทร์ กัมพูชา และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมือง กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริด และเประ
สงครามครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองลำปางและเมืองป่าซาง
หลังจากที่พม่า พ่ายแพ้แก่ไทยก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๖๐,๐๐๐ นาย มาช่วยเหลือ และขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
สงครามครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองทวาย
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พล ๒๐, ๐๐๐ นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ
สงครามครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๓๓๖ สงครามตีเมืองพม่า
ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
สงครามครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๓๔๐ สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่
เนื่องจากสงครามในครั้งก่อนๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงทรงรับสั่งไพร่พล ๕๕,๐๐๐ นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น ๗ ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น ๔๐,๐๐๐ นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
สงครามครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๓๕๕ สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒
ในครั้งนั้นพระยากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย
พระราชกรณียกิจด้านการชำระประมวลกฎหมาย
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระกฎหมายที่มีอยู่ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อนำมาใช้เป็นหลักการปกครองต่อไป ซึ่งกฎหมายที่ชำระขึ้นใหม่มีชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง มีความยาวเป็นสมุดยกแปด ๓ เล่ม รวม ๑,๖๗๗ หน้า ใช้เวลาในการชำระ ๑๑ เดือน ซึ่งกฎหมายตราสามดวงนี้ได้ใช้มาอย่างยาวนานจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) รวมระยะเวลา ๑๓๑ ปี
พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง
การปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ตำแหน่งที่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์ คือตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ระบบการบริหารมีอัครเสนาบดี ๒ ตำแหน่ง คือ สมุหพระกลาโหม มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมุหนายกมีหน้าที่ปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนคร
เสนาบดีจตุสดมภ์ ดูแลด้านต่างๆ มี ๔ ตำแหน่ง ประกอบด้วย
๑. เสนาบดีกรมเมือง หรือ กรมเวียง มีตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรทั่วไปในราชอาณาจักร
๒. เสนาบดีกรมวัง มีตราเทพยดาทรงพระนนทิกร(โค) เป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่บังคับบัญชาภายในพระบรมมหาราชวัง และพิจารณาความคดีแพ่ง
๓. เสนาบดีกรมพระคลัง มีตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่ในการรับ-จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วยอากร รวมถึงบังคับบัญชากรมท่าและการค้าขายกับต่างประเทศ รวมถึงกรมพระคลังต่างๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า
๔. เสนาบดีกรมนา มีตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่บังคับบัญชาเกี่ยวกับกิจการไร่นาทั้งหมด
พระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา
พระราชกรณียกิจที่สำคัญในการทำนุบำรุงพระศาสนา ได้แก่
การสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุด โดยตั้งคณะสงฆ์ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะขึ้นมาเพื่อชำระพระไตรปิฎก เนื่องจากพระไตรปิฎกที่มี อยู่มีความผิดเพี้ยน และบันทึกเป็นหลายอักษร ทั้งอักษรลาว รามัญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระให้ถูกต้อง และบันทึกเป็นอักษรขอมจารึกลงบนใบลาน แล้วเก็บไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม แล้วสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ตามพระอารามหลวงต่างๆ เพื่อได้ใช้ศึกษาต่อไป
การกวดขันสมณปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ให้ดำรงสมณศักดิ์รับผิดชอบศาสนาให้รุ่งเรืองต่อไป และได้ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ไว้อย่างเคร่งครัด
การสร้างวัด และการบูรณปฏิสังขรณ์ ทรง มีรับสั่งให้มีการก่อสร้างและซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมากโดยเฉพาะ อย่างยิ่งคือ การสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พร้อมกับการสถาปนาพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ.๒๓๒๕ ทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม และทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
พระราชกรณียกิจด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม
การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ส่วนใหญ่จะเป็นการฟื้นฟูในด้านวรรณกรรมเป็นสำคัญ โดยทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองบ้าง กวีและผู้รู้เขียนขึ้นมาบ้าง และด้วยความที่พระองค์ทรงสนพระทัยในงานด้านวรรณศิลป์เป็นอย่างมาก จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนหนึ่ง ที่รู้จักกันดีได้แก่ พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นสุดยอดวรรณคดี เอกของไทย ดังจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในงานศิลปะแขนงต่างๆ มากมาย เช่น จิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารต่างๆ หรือการแสดงโขน เป็นต้น ซึ่งรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ ๑ นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ลงในสมุดปกดำแบบโบราณ ความยาวประมาณ ๑๐๒ เล่มจบ นับว่าเป็นวรรณคดีไทยที่มีความรามเกียรติ์ยาวมากเรื่องหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอยู่ในสิริราชสมบัตินาน ๒๘ ปีเศษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ รวมพระชนมายุได้ ๗๔ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มี พระอัจฉริยภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสงคราม, ศาสนา, การปกครองและศิลปวัฒนธรรม ทรงเป็นผู้ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ และฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้านให้มีความรุ่งเรืองสง่างามเทียบเท่ากับกรุง ศรีอยุธยาราชธานีเก่า ซึ่งนับว่าเป็นความยากลำบากอย่างมาก แต่พระองค์ก็ทำจนสำเร็จ ปวงชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระนามของพระองค์ เพื่อรำลึกถึงเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ของพระองค์สืบไป
เกร็ดความรู้
สะพานพุทธ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้มีพระราชดำริว่า ควรจะมีการสร้างอนุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์สืบไป และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๕๐ ปีรวมถึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่เป็น ๓ เท่าของพระองค์จริง และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม ระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ส่วนแบบสะพานนั้นเป็นสะพานเหล็กยาว ๒๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๑๖.๖๘ เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ ๓๒.๕ เมตร และพระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่าสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “สะพานพุทธ” นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น