วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สงครามเก้าทัพ

หลังจากที่กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ราชธานีแห่งใหม่ของชนชาติไทยก่อกำเนิดขึ้นมาได้เพียงสามปี ราชอาณาจักรแห่งนี้ก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ จากมหาสงครามที่จะชี้ชะตาถึงอนาคตของแผ่นดินแห่งนี้ว่าจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปหรือต้องล่มสลายลงโดยมหาสงครามครั้งนี้ ถูกเรียกขานว่า สงครามเก้าทัพ
ในปีพุทธศักราช 2319 พระเจ้าช้างเผือกมังระ กษัตริย์พม่าแห่งอาณาจักรอังวะได้เสด็จสวรรคตลง จิงกูจาโอรส องค์ใหญ่ของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดา หลังครองราชย์ พระเจ้าจิงกูจาได้สั่งปลดอะแซหวุ่นกี้ออกจากตำแหน่งและสั่งประหารพระอนุชาของพระองค์ ส่วนบรรดาพระอนุชาของพระเจ้ามังระนั้น พระองค์ได้มีบัญชาให้นำไปกักตัวไว้
พระเจ้าจิงกูจาทรงมีพระทัยโหดร้าย ชอบแต่เสวยสุรายาเมาและหลังเสพสุราก็มักทรงกระทำการทารุณต่าง ๆ อยู่เสมอ วันหนึ่ง พระองค์ได้ทรงมีรับสั่งให้นำเอาพระสนมเอกคนโปรดซึ่งเป็นบุตรของอะตวนหวุ่นไปประหารชีวิตด้วยการถ่วงน้ำและรับสั่งให้ถอดบิดานางลงเป็นไพร่ ทำให้อะตวนหวุ่นโกรธแค้นมาก จึงไปสมคบกับอะแซหวุ่นกี้และตะแคงปดุง (มังแวง) พระอนุชาของพระเจ้ามังระ ฉวยโอกาสที่พระเจ้าจิงกูจาเสด็จออกประพาสหัวเมืองก่อการกบฎและยกเอา มังหม่อง ผู้เป็นโอรสของพระเจ้ามังลอกพระเชษฐาของพระเจ้ามังระขึ้นครองราชบัลลังก์
ทว่าหลังจากนั้นมังหม่องกลับควบคุมสถานการณ์ไว้มิได้ โดยปล่อยให้บรรดาโจรป่าที่เป็นสมัครพรรคพวกของพระองค์ทำการปล้นสะดมภ์ผู้คนจนเกิดความวุ่นวายไปทั่วกรุงรัตนปุระอังวะ ในที่สุดหลังจากที่มังหม่องนั่งเมืองได้เพียงสิบเอ็ดวัน ตะแคงปดุงจึงได้ร่วมกับเหล่าเสนาอำมาตย์จับตัวมังหม่องสำเร็จโทษเสีย จากนั้นจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติกรุงอังวะแทน ทรงมีพระนามว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าช้างเผือก แต่เป็นที่รู้จักในพระราชพงศาวดารของไทยในพระนาม พระเจ้าปดุง หรือที่ในภาษาพม่าเรียกว่า พระเจ้าโบดอพญา
แผนที่เมืองหลวงของประเทศพม่า ในสมัยของพระเจ้าปดุง
ในเวลานั้น พระเจ้าจิงกูจาได้ทรงทราบว่าเกิดกบฏขึ้นในกรุงอังวะ จึงคิดจะทรงหลบหนีไปยังเมืองกะแซ แต่ด้วยความเป็นห่วงพระราชชนนีจึงลอบมาใกล้กรุงอังวะและส่งหนังสือเข้าไปทูลแจ้งว่าจะทรงหลบหนีไปอยู่เมืองกะแซ แต่พระราชชนนีทรงห้ามปรามว่า ธรรมดาเมื่อเกิดเป็นกษัตริย์แล้ว หากแม้นจะต้องตายก็ควรตายในเมืองของตัว หาควรหนีไปพึ่งเมืองน้อยอันเคยเป็นข้าไม่ ทำให้พระองค์ทรงเกิดมีขัตติยะมานะและเสด็จนำข้าหลวงที่มีอยู่กลับเข้าเมือง พวกทหารที่เฝ้าอยู่ เห็นพระเจ้าจิงกูจาเสด็จมาอย่างอาจหาญก็เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าจับกุม ฝ่ายอะตวนหวุ่นซึ่งมีความเจ็บแค้นที่พระสนมเอกบุตรสาวของตนถูกพระเจ้าจิงกูจาสั่งประหารได้ทราบเข้า จึงนำคนมาล้อมจับและได้ฟันพระองค์สิ้นพระชนม์ที่ในเขตพระราชฐาน
เมื่อพระเจ้าปดุงทรงทราบความก็ทรงพระพิโรธว่า อะตวนหวุ่นทำการโดยพลการ สังหารพระเจ้าจิงกูจาแทนที่จะจับมาถวายพระองค์ จึงทรงให้เอาตัวอะตวนหวุ่นไปประหารเสีย
ในขณะที่เกิดเหตุแย่งชิงราชบัลลังก์กันในกรุงอังวะนั้น บรรดาเมืองขึ้นต่าง ๆ ของกรุงอังวะได้ถือโอกาสแข็งเมืองจนถึงกับมีบางหัวเมืองที่บังอาจคุมพลยกไปปล้นกรุงอังวะอันเป็นราชธานีก็มี พระเจ้าปดุงจึงได้ทรงยกทัพไปโจมตีหัวเมืองต่าง ๆ ที่แข็งข้อได้จนหมดสิ้น จากนั้นได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างราชธานีแห่งใหม่ ชื่อว่า กรุงอมรปุระและเริ่มทำสงครามกับประเทศใกล้เคียงเพื่อแผ่ขยายพระราชอำนาจ
ล่วงถึงปีพุทธศักราช 2328 หลังจากทรงได้รับชัยชนะเหนืออาณาจักรยะข่ายทางทิศตะวันตกและแคว้นมณีปุระทางทิศเหนือ พระเจ้าปดุงก็หมายพระทัยจะแผ่พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นไปอีก โดยในเวลานั้น พระองค์ได้ทรงทราบมาว่า ไทยเพิ่งจะตั้งราชธานีใหม่ นามว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์
พระเจ้าปดุงจึงทรงหมายจะทำลายกรุงรัตนโกสินทร์และพิชิตชนชาติไทยไว้ในพระราชอำนาจเฉกเช่นดังพระเจ้าช้างเผือกสิบทิศบุเรงนองในอดีตและพระเจ้ามังระผู้เป็นพระเชษฐาของพระองค์
ทั้งนี้ เพื่อให้ทรงบรรลุพระประสงค์ พระเจ้าปดุงได้ทรงเกณฑ์รี้พลจากทุกชาติทุกภาษาในราชอาณาจักรทั้ง พม่า มอญ เงี้ยว ยะข่าย มณีปุระและชนชาติอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันคน จัดเป็นทัพทั้งหมดเก้ากองทัพ โดยกำหนดแผนให้เข้าโจมตีไทยจากห้าเส้นทางพร้อมกัน ดังนี้
ทัพที่หนึ่ง มีพลรบหนึ่งหมื่น ม้าศึกหนึ่งพัน กำหนดให้ยกเข้าทางด่านสิงขร เมืองมะริด มีพลหนึ่งหมื่นแบ่งเป็นทัพบก ทัพเรือ ทัพบกให้แมงยีแมงข่องกยอเป็นแม่ทัพ ถือพลเจ็ดพัน เข้าตีหัวเมืองฝ่ายใต้ทางบกของไทย ตั้งแต่ชุมพร เรื่อยไปถึงสงขลา ส่วนทัพเรือให้ยี่หวุ่นเป็นแม่ทัพ ถือพลสามพัน กำปั่นรบ 15 ลำ  เข้าตีหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกของไทยตั้งแต่ตะกั่วป่าไปจนถึงเมืองถลาง
ทัพที่สอง ให้อนอกแฝกคิดหวุ่น (อะ-นอ-กะ-แฝก-คิด-หวุ่น) เป็นแม่ทัพ ถือพลรบหนึ่งหมื่น ม้าศึกหนึ่งพัน โดยยกเข้าทางด่านบ้องตี้ เข้าตีราชบุรี เพชรบุรี จากนั้นให้ไปบรรจบกับทัพที่หนึ่งที่เมืองชุมพร
ทัพที่สาม ให้หวุ่นคะยีสะโดศิริมหาอุจจนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ ถือพลรบสามหมื่น ม้าศึกสามพันให้ยกเข้าทางเชียงใหม่ ให้ตี นตรลำปาง สวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลก จากนั้นให้ยกลงมาสมทบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ
สำหรับกองทัพที่สี่, ห้า, หก, เจ็ด และแปดนั้นจะเข้าตีกรุงเทพโดยตรง มีพลรวมทั้งสิ้นแปดหมื่นเก้าพัน โดยแบ่งออกเป็น
ทัพที่สี่ ให้เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพ ถือพลหนึ่งหมื่นหนึ่งพัน ม้าศึกหนึ่งพันหนึ่งร้อย เป็นทัพหน้าเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ห้า ให้เมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพถือพลรบห้าพันม้าศึกห้าร้อยเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ คอยหนุนทัพที่สี่
ทัพที่หก ให้ศิริธรรมราชา ราชบุตรองค์ที่สอง เป็นแม่ทัพ ถือพลรบหนึ่งหมื่นสองพัน ม้าศึกหนึ่งพันสองร้อย เป็นทัพหน้าที่หนึ่งของทัพหลวง ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่เจ็ด ให้สะโตทันซอ ราชบุตรองค์ที่สาม เป็นแม่ทัพถือพลรบหนึ่งหมื่นหนึ่งพัน ม้าศึกหนึ่งพันหนึ่งร้อย  เป็นทัพหน้าที่สองของทัพหลวง ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่แปด ทัพหลวง มีพระเจ้าปดุงทรงเป็นจอมทัพ ถือพลห้าหมื่น ม้าศึกห้าพัน ช้างรบห้าร้อย ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ส่วนทัพที่เก้าซึ่งเป็นกองทัพสุดท้าย นั้น ให้จอข่องนรธา เป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน ม้าศึกห้าร้อย ยกเข้าทางด่านแม่ละเมา ตีเมืองตาก กำแพงเพชร จากนั้นให้ลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ
ในประวัติศาสตร์ไทยเรียกสงครามครั้งนี้ว่า “สงครามเก้าทัพ
หลังจากระดมไพร่พลแล้ว ฝ่ายอังวะได้มาประชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ ทว่าไม่อาจเคลื่อนทัพต่อ เนื่องจาก เสบียงไม่เพียงพอ พระเจ้าปดุงทรงพิโรธแมงยีแมงข่องกยอ แม่ทัพที่หนึ่ง ซึ่งพระองค์มีพระบัญชาให้ไประดมเสบียงมาส่งให้กองทัพ แต่ แมงยีแมงข่องกยอ กลับหาเสบียงได้ล่าช้า ทำให้เสียเวลาเคลื่อนทัพ พระเจ้าปดุงจึงให้ประหารแมงยีแมงข่องกยอเสีย และให้ เกงหวุ่น แมงยี มหาสีหสุระ รั้งตำแหน่งแม่ทัพที่หนึ่งแทน จากนั้นก็ทรงเร่งให้กองทัพทั้งหมดเคลื่อนพลเข้าสู่เขตแดนไทย
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทางฝ่ายไทย หลังจากที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงทราบว่า พม่ากำลังยกทัพมาทำสงคราม พระองค์ก็ทรงโปรดฯ ให้เกณฑ์ไพร่พลเพื่อรับศึก ทว่ากำลังรี้พลของฝ่ายไทยในเวลานั้นมีเพียงเจ็ดหมื่นหรือเพียงครึ่งของทัพข้าศึกเท่านั้น
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หากปล่อยให้ข้าศึกยกเข้ามาถึงพระนครจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายไทย จึงทรงโปรดฯให้จัดทัพไปตั้งรับศึกที่นอกเมือง แต่เนื่องจากฝ่ายไทยมีกำลังน้อยกว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะรับศึกในทางที่สำคัญก่อน โดยทรงมีพระบัญชาให้จัดกำลังพลดังนี้
ทัพที่หนึ่ง มีสมเด็จพระอนุชาของพระองค์ คือ สมเด็จวังหน้า พระมหาอุปราชกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพคุมไพร่พล 30,000 นาย ยกไปตั้งทัพยังทุ่งลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี เพื่อต้านทานข้าศึกที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
thaiwarพระมหาอุปราชกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท
ทัพที่สอง สมเด็จวังหลัง พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์  คุมไพร่พล 15,000 นาย ยกขึ้นเหนือไปตั้งรับข้าศึกที่มาจากเชียงแสนและทางด่านแม่ละเมา
ทัพที่สาม มีพล 5,000 นาย ให้ เจ้าพระยาธรรมมาและพระยายมราชเป็นแม่ทัพยกไปตั้งมั่นยังราชบุรีเพื่อสกัดทัพข้าศึกที่จะเข้ามาทางด่านบองตี้ ส่วนสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงคุมทัพที่สี่ ซึ่งมีไพร่พล 20,000 นาย ตั้งมั่นยังพระนครเพื่อคอยหนุนช่วยกองทัพอื่น ๆ
ในการรบที่ลาดหญ้า  สมเด็จวังหน้าทรงให้ ออกญามหาโยธาคุมทหารมอญ 3,000 คนเป็นกองหน้าไปตั้งสกัดข้าศึกที่ด่านกรามช้าง ส่วนทัพใหญ่ตั้งค่ายมั่นที่ทุ่งลาดหญ้าตรงช่องสะเดาใกล้กับเขาชนไก่ และยังทรงให้ตั้งค่ายอีกค่ายหนึ่งที่ปากแพรก (ปัจจุบันคือ ตัวเมืองกาญจนบุรี) 
ทุ่งลาดหญ้า
ในยามนั้น กองทัพที่ 4 และ 5 ของอังวะซึ่งมีรี้พลรวม 16,000 นาย สามารถตีด่านกรามช้างแตกและรุกไล่ทัพมอญมาจนถึงทุ่งลาดหญ้า จนเข้าปะทะกับกองทัพไทย ในการรบกันครั้งแรก ฝ่ายไทยสามารถตีข้าศึกถอยร่นไปได้และล้อมจับทหารอังวะได้กองหนึ่งพร้อมนายทัพชื่อ กุลาหวุ่น
เมื่อเห็นว่า กำลังข้างไทยเข้มแข็งนัก เมหวุ่น และเหมียนหวุ่นจึงให้ตั้งค่ายมั่นตรงเชิงเขาประจัญหน้ากับฝ่ายไทยเพื่อรอกำลังหนุนจากกองทัพที่หก เจ็ดและแปด ซึ่งยกติดตามมาจากเมาะตะมะ โดยระหว่างนั้น ฝ่ายพม่าได้สร้างหอรบบรรทุกปืนใหญ่ใช้ระดมยิงค่ายไทยสังหารไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก สมเด็จวังหน้าทรงแก้สถานการณ์โดยให้นำท่อนไม้มาทำเป็นลูกปืนบรรจุในปืนใหญ่ชนิดปากกระบอกกว้างยิงใส่หอรบข้าศึกพังพินาศ จนฝ่ายอังวะไม่กล้าออกมานอกค่ายอีก
เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของข้าศึก สมเด็จวังหน้าจึงทรงให้ ออกญาสีหราชเดโช ออกญาท้ายน้ำ และออกญาเพชรบุรีคุมไพร่พล 500 นาย เป็นกองโจรไปดักปล้นเสบียงพม่า ทว่าทั้งสามกลับหวาดกลัวข้าศึกและหลีกหนีหน้าที่ สมเด็จวังหน้าจึงทรงให้ประหารชีวิตเสียและให้เจ้าขุนเณร ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างมารดาของกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์คุมกำลังนักรบกองโจรแทน
กองโจรของเจ้าขุนเณรปล้นทำลายเสบียงพม่าได้เป็นอันมาก โดยครั้งหนึ่งฝ่ายอังวะได้ลำเลียงเสบียงเป็นการใหญ่ เพื่อป้องกันการถูกปล้น โดยใช้ช้างศึก 60 เชือกขนเสบียงและมีไพร่พลคุมกันหลายร้อยคน ทว่าก็ยังถูกกองโจรของเจ้าขุนเณรปล้นชิงและทำลายได้จนหมดสิ้น
(กองโจรเจ้าขุนเณรดักปล้นเสบียงพม่า)
นอกจากส่งกองโจรปล้นเสบียงแล้ว สมเด็จวังหน้ายังให้ออกญาจ่าแสนยากรคุมไพร่พล 10,000 นาย ลอบออกจากค่ายในยามดึกและแต่งขบวนเดินกลับเข้ามาใหม่ในยามเช้า โดยให้ทำเช่นนี้สามสี่ครั้ง เพื่อลวงให้ข้าศึกคิดว่าฝ่ายไทยมีกำลังมาหนุนเพิ่มเติม ทำให้ขวัญกำลังใจของฝ่ายอังวะเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ
ระหว่างที่ทัพไทยยังตั้งมั่นเผชิญหน้าข้าศึกที่ลาดหญ้าอยู่นั้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเป็นห่วงเนื่องจากไม่ได้ข่าวเป็นเวลานับเดือน จึงเสด็จนำทัพมาหนุนยังลาดหญ้า ครั้นเมื่อสมเด็จวังหน้ากราบทูลสถานการณ์ให้ทรงทราบ จึงสิ้นห่วงและเสด็จนำทัพกลับพระนคร
ในที่สุดหลังจากตั้งมั่นมาได้สามเดือน กองทัพอังวะที่ช่องสะเดาก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร ขณะที่กองทัพอื่น ๆ ซึ่งยกตามมา ก็ประสบปัญหาเดียวกัน จนทำให้การเคลื่อนพลต่อไม่อาจทำได้ การขาดแคลนเสบียงทำให้ทหารอังวะเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นอันมาก สุดท้าย เมื่อทรงเห็นว่าสถานการณ์ไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายตน พระเจ้าปดุงจึงมีรับสั่งให้ถอนทัพหลวงกลับไปตั้งมั่นยังเมาะตะมะ
(ทัพไทยทำลายค่ายพม่า)
ข่าวทัพหลวงอังวะถอยทัพรู้ถึงฝ่ายไทยอย่างรวดเร็ว สมเด็จวังหน้าจึงทรงนำทัพไทยเข้าตีค่ายพม่าที่ลาดหญ้าเพื่อทำลายข้าศึกให้สิ้นซาก หลังการรบอันดุเดือด ฝ่ายไทยก็ตีค่ายพม่าได้ทั้งหมด สังหารข้าศึกได้ถึงหกพันคน และจับเป็นเชลยได้อีกหลายพันคน ทำให้กองทัพพม่าที่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์แตกพ่ายและล่าถอยไปจนหมดสิ้น
หลังจากได้ชัยชนะที่ทุ่งลาดหญ้าแล้ว สมเด็จวังหน้าได้เสด็จนำทัพกลับพระนคร ระหว่างทางได้ปะทะกับทัพที่สองของอังวะที่เข้ามาทางด่านบ้องตี้จนล่วงเข้าใกล้เมืองราชบุรีและตีข้าศึกแตกพ่ายไป สมเด็จวังหน้าได้ลงโทษปลดเจ้าพระยาธรรมาและออกญายมราชออกจากตำแหน่ง ในฐานที่ละเลยหน้าที่จนปล่อยให้ข้าศึกยกเข้ามาจนเกือบประชิดเมืองราชบุรีโดยมิได้ระแคะระคาย 
ชัยชนะเหนือกองทัพข้าศึกทางด่านเจดีย์สามองค์และด่านบ้องตี้ ทำให้ฝ่ายไทยมีกำลังพลพอไปจัดการกับข้าศึกทางด่านอื่น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงให้สมเด็จวังหน้านำทัพสองหมื่นลงใต้ไปปราบปรามทัพอังวะที่เข้ามาทางด่านสิงขร ส่วนพระองค์ยกพลสองหมื่นขึ้นไปปราบปรามข้าศึกทางเหนือ
พญากาวิละ
โดยในเวลานั้นทางภาคเหนือ ทัพของเจ้าเมืองตองอูที่ยกมาจากเชียงแสนได้เข้าตีเมืองลำปางของพญากาวิละแต่ไม่อาจเอาชนะได้ จึงตั้งทัพล้อมเมืองไว้ และแบ่งกำลังพล 5,000 ยกลงมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ทั้งหมดก่อนจะมาตั้งค่ายมั่นที่ปากพิง เมืองพิษณุโลก ส่วนทัพที่เก้าของจอข่องนรทาได้ยึดเมืองตากไว้ได้และตั้งค่ายมั่นรอสมทบกับทัพใหญ่ของเจ้าเมืองตองอูอยู่ที่นั่น
ต่อมา หลังจากที่กองทัพของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาถึงเมืองพิจิตรก็ทรงให้ข้าหลวงถือสาส์นไปเร่งให้กรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์เร่งนำทัพเข้าตีทัพอังวะซึ่งมาตั้งที่ปากพิง เมืองพิษณุโลกจนแตกพ่าย สังหารข้าศึกได้กว่า 800 นาย จนศพลอยเต็มแม่น้ำ 
(การรบที่ปากพิง)
ขณะเดียวกันทัพที่เก้าของฝ่ายอังวะที่เข้ามาทางด่านแม่ละเมาและยึดเมืองตากเอาไว้ได้นั้น เมื่อทราบข่าวค่ายปากพิงแตกแล้วก็เกิดหวาดเกรงจึงล่าถอยออกไป จากนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงให้กรมหลวงจักรเจษฎาและกรมพระราชวังหลังยกทัพไปตีทัพหลวงของกองทัพที่สามของอังวะที่ล้อมเมืองลำปางอยู่ โดยมีพญากาวิละคอยต่อสู้ป้องกันเมืองจากกองทัพพม่าอย่างเข้มแข็ง ครั้นเมื่อทัพจากพระนครยกไปถึง พญากาวิละก็ระดมไพร่พลยกออกมาช่วยทัพกรุงตีกระหนาบทัพพม่าจนฝ่ายข้าศึกต้องแตกพ่ายล่าถอยกลับไปยังเมืองเชียงแสน
อนุสาวรีย์ คุณหญิงจันและนางมุก
ส่วนทางใต้ กองทัพเรือของอังวะซึ่งมีไพร่พล 3,000 นาย ได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งได้ และยกมาตีเมืองถลาง แต่ถูก คุณหญิงจัน ภริยาม่ายของเจ้าเมืองถลาง และนางมุกผู้เป็นน้องสาวรวบรวมชาวบ้านทั้งหญิงชายต่อต้านจนทัพอังวะต้องล่าถอยกลับไป
(ศึกถลาง)
ขณะที่ทางด้านทัพบกของอังวะได้ใช้กลอุบายจนยึดเมืองนครศรีธรรมราชได้ ทว่าเมื่อเกงหวุ่น แม่ทัพที่หนึ่งของอังวะ ทราบว่าทัพของสมเด็จวังหน้าได้ยกลงมาจากกรุงเทพ ฝ่ายอังวะก็ได้ส่งทัพมาตั้งรับที่เมืองไชยา ทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันอย่างดุเดือด ก่อนที่ฝ่ายไทยจะตีทัพพม่าแตกพ่ายไปได้ เกงหวุ่นจึงให้ถอยทัพกลับไปทางด่านสิงขร และเป็นอันสิ้นสุดสงครามเก้าทัพลง
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าปดุงยังมิได้ทรงยอมแพ้และได้ส่งกองทัพมาตีไทยอีกครั้งในปีพุทธศักราช 2329  แต่ก็แตกพ่ายไปที่ท่าดินแดงและสามสบ เขตเมืองกาญจนบุรี จากนั้นพระองค์ยังทำสงครามกับฝ่ายไทยอีกหลายครั้งแต่ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง จนฝ่ายพม่าสิ้นความพยายามที่จะเอาชนะไทยอีก และราชอาณาจักรไทยก็สามารถอยู่ยั้งยืนมาได้นับแต่นั้นจนถึงทุกวันนี้


ในเดือน 3 ปีระกา พุทธศักราช 2308 เรื่องราวของชาวบ้านธรรมดา 11 คนที่กลับกลายเป็นตำนาน ด้วยต่างหยิบดาบสู้กับพม่าอย่างสุดหัวใจ เพราะความแค้นที่ล้วนแต่ถูกย่ำยีจากกองทัพพม่า ยกกำลังมาแบ่งเป็นสองเส้นทาง มังมหานรธา ตีจากทิศตะวันตก เนเมียวสีหบดี ตีไล่จากทางเหนือ หวังขนาบกรุงศรีอยุธยา ครานั้นทัพของเนเมียวต้องล่าช้าไป เนื่องจากติดขัดกับกลุ่มชาวบ้าน ที่รวมตัวกันต่อต้านในนาม บางระจัน
เน เมียวสีหบดี แค้นหนักที่กองทัพของตนพ่ายแพ้ถึงสามครั้ง จึงเพิ่มกำลังหนักเข้า ชาวบ้านระจันจึงรับอย่างถวายหัว แต่คราวนั้น พ่อแท่นหัวหน้าของชาวบ้านถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ทุกคนจึงต้องหาผู้นำคนใหม่ ขณะนั้นข่าวการชนะพม่าของบางระจันกระจายไปทั่ว ชาวบ้านมากมายพากันมารวมตัวสู้ บางระจันได้ผู้มีฝีมือ อีกสองคนมาช่วย คือ นายดอก ครูมวยจากวิเศษไชยชาญ แล นายทองแก้ว ครูดาบบ้านโพธิ์ทะเล
ชื่อ กลุ่มโจรของนายจันหนวดเขี้ยวเป็นที่กล่าวขานในเวลานั้น บางระจันจึงส่งนายอิน มือแม่นธนู นายเมืองคนหนุ่มใจกล้า แลพวกเสี่ยงภัยออกจากค่ายไปตาม นายจันยอมมาช่วยบางระจันทันที เมื่อรู้ว่าพระอาจารย์ธรรมโชติย้ายจากเขานางบวช บ้านเกิดของตนที่วอดวายไปแล้ว มาจำวัดที่บางระจัน
นายจันหนวดเขี้ยว เป็นนักรบประเภท ยอมหักไม่ยอมงอ ด้วยครั้งหนึ่งตนเคยเสียชีวิตลูกเมียให้พม่า เมื่อได้ผู้นำคนใหม่ จึงเปลี่ยนแปลงบางระจันให้ทุกคนมีวินัย และไม่ทำอะไรตามใจตนเอง ทำให้นายจันไม่เป็นที่ถูกใจของนายทองเหม็น ขี้เมาพเนจรที่ชอบขี่ควายแอบออกจากค่าย ไปตีพม่าอยู่บ่อยครั้ง ไม่มีใครรู้สาเหตุว่านายทองเหม็น ทำอย่างนั้นเพื่ออะไร
เมื่อหยุด จากการรบ ชาวบ้านก็เป็นเพียงชาวบ้าน ความรักของนายเมืองและอีแตงอ่อน ลูกสาวพ่อแท่นกำลังก่อตัวขึ้นอย่างงดงาม พ่อแง่ แม่งอน ตามประสา เช่นเดียวกับนายอิน กับอีสา เมียรักที่เพิ่งอยู่กินกัน ความกดดันจากสงครามทำให้อีสา ไม่บอกให้นายอินว่าตนกำลังท้อง ด้วยกลัวผัวจะเป็นกังวล
นายอิน นายเมือง ต้องเสี่ยงภัยกันอีกครั้ง เมื่อต้องเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอปืนใหญ่ แต่เมื่อไปถึงได้รับการปฏิเสธกลับมา ที่นั่นนายเมืองได้เล่าเรื่องของตนให้ทหารกรุงศรีอยุธยาว่าพวกตนไม่ใช่คน บ้านบางระจันมาแต่เริ่ม เพราะว่าเป็นคนบ้านศรีบัวทอง ถูกพม่าตีแตก แต่ได้พันเรืองกำนันบางระจัน แล ขุนสัน นำพวกเข้าช่วยไว้
เมื่อนาย อินกลับมาแล้วจึงรู้ทีหลังว่าเมียกำลังท้อง แล้วนายปลั่งเพื่อนรักที่ร่วมรบกันมา บาดเจ็บจนพิษไข้ขึ้นถึงกับวิกลจริตไป ซ้ำมารู้ว่าตนกำลังจะมีลูกนึกแค้นพม่าหนัก นัดพาพวกล่องเรือไปตีพม่าถึงค่าย โดยไม่รู้ว่าพวกพม่าเองก็แอบส่งกำลังมาตีบางระจันเช่นกัน
ครั้ง นั้นด้วยใจร้อน นายอินพาคนไปตายมากมาย ซ้ำกลับมาค่ายบางระจันก็ถูกตีจนยับเยิน คนตายมากมาย ชาวบ้านก็พากันอพยพหนีไป นายจันท้อใจจะกลับไปเป็นกองโจรเหมือนเดิม หากแต่ได้กำลังใจอย่างไม่คาดคิดจากนายทองเหม็น ขี้เมาที่เป็นอริกันมาตลอด และรู้ว่าแท้จริงแล้วนายทองเหม็นก็มีอดีตที่เจ็บปวดไม่น้อยไปกว่าตน ลูกเมียมันถูกจับไปอย่างไม่รู้เป็นตาย ที่มันแหกค่ายไปพม่า เพราะต้องการหาลูกเมียมัน ด้วยมีความหวังเสมอว่าทั้งสองยังรอดชีวิตอยู่
กำลัง ใจบางระจันกลับมาอีกครั้ง พระยารัตนาธิเบศร์ เดินทางมาจากอยุธยาเพื่อช่วยชาวบ้านหล่อปืนใหญ่ขึ้นสู้รบกับพม่า แต่ก็เท่านั้นเพราะเป็นปืนใหญ่ที่หล่อร้าว ใช้การไม่ได้ หลวงพ่อธรรมโชติ เห็นชาวบ้านหมดกำลังใจจึงปลุกเสกผ้าประเจียด และเครื่องรางให้
ยาม นั้นพม่า ได้แต่งตั้งนายกองคนใหม่ชื่อสุกี้ เข้าตีบางระจัน ทัพสุกี้ครั้งนี้มีปืนใหญ่มาด้วย บางระจันเอาปืนใหญ่เข้าสู้ทั้งที่ร้าวอย่างไม่มีทางเลือก ทุกคนรู้ชะตากรรมดีว่า นี่คงเป็นครั้งสุดท้ายของบางระจันแล้ว ความรักของนายเมืองและอีแตงอ่อนกำลังสุกงอม แต่ก็ต้องหยิบดาบไปสู้ ทั้งๆ ที่รู้ชะตากรรม นายอินและอีสา เพิ่งจะเป็นครอบครัวได้หมาดๆ ก็ตัดสินใจออกไปรบแลตายร่วมกัน เฉกเช่นชาวบ้านบางระจันทุกคน
แต่ น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เมื่อการรบพุ่งครั้งที่ 8 พม่ายกกำลังมานับหมื่นพร้อมด้วยปืนใหญ่ ชาวบ้านไม่สามารถต้านทานทัพพม่าไว้ได้ บางระจันแตกสลาย หลงเหลือไว้เพียง วีรกรรมเป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทย ไม่อาจลืม!
                                ตราบใดกูยังไม่ตาย มึงอย่าหมายย่ำเหยียบแผ่นดินกู

ตัวอักษรไทย สมัย สุโขทัย


อักษรไทยสมัยสุโขทัย

ภาษาเขียนของคนไทยเกิดขึ้นหลังจากที่คนไทยสร้างเมืองของตนเองขึ้นแล้ว คือ สุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์องค์ที่ ๓ ของเมืองสุโขทัย 

เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปี ที่แล้วมา เมืองสุโขทัยของคนไทยนับว่า เป็นเมืองใหม่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านั้นชนชาติอื่นๆ รอบด้าน มีการรวมตัวกันเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว และที่เป็นเมืองแล้ว ต่างก็มีภาษาเขียนเป็นของตนเองทั้งสิ้น เมืองเขมร เมืองมอญ เมืองพม่า ล้วนมีภาษาเขียนของตนเองก่อนคนไทย ในยุคนั้น และก่อนหน้านั้น เท่าที่ปรากฏในอินเดีย ลังกา และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจารึกเรื่องของการปกครองเมือง ศาสนา และประชาชน นับเป็นประเพณีนิยมของกษัตริย์ทั่วไป เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นปกครองเมือง เมื่อมีการทำสงคราม การทำบุญครั้งใหญ่ หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้นในเมือง ก็เป็นประเพณีของกษัตริย์ที่จะทรงบันทึกเรื่องราวไว้ในอินเดีย และลังกา มีการเก็บบันทึกจารึกต่าง ๆ ทั้งของวัดและกษัตริย์นับได้เป็นจำนวนแสน ประเพณีการจารึกเรื่องราวนี้ ได้แพร่หลายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และในย่านนี้จารึกโบราณมีทั้งภาษาบาลีสันสกฤต และต่อมาก็มีจารึกเป็นภาษาของคนพื้นเมืองด้วย คนไทยคงจะใช้ตัวอักษรอื่น ที่ใช้แพร่หลายกันอยู่ในย่านนั้นมาก่อน ซึ่งมีทั้งอักษรมอญ และขอม แต่เมื่อคนไทยมีเมืองเป็นของตนเอง มีกษัตริย์ไทยเองแล้ว แรงผลักดันที่จะต้องมีตัวอักษรของตนเอง เพื่อบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์ และเมืองตามประเพณีอยู่ในขณะนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้น การใช้ภาษาของไทยเองย่อมจะทำให้เมืองไทยมีฐานะเท่าเทียมกับเมืองอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เราอาจนับว่า การเป็นเมือง และประเพณีการจารึกเรื่องราวของกษัตริย์และเมือง เป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้เกิดการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น 

ตัวอักษรที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นตัวเขียนที่มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากลายสือไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีที่แล้ว เข้าใจว่า คงจะได้เปรียบเทียบ หรือปรับปรุงจากตัวอักษรที่มีใช้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ตัวหนังสือในปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยสุโขทัยมาก แต่ระบบของตัวพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ยังคงเดิม

อักษรไทยมีใช้มานานประมาณ ๗๐๐ ปีแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่จะมีลักษณะแตกต่างไปจากภาษาในปัจจุบัน ทั้งในด้านการเขียน และการแทนเสียง และเพราะเหตุว่า ตัวเขียนไทยเป็นตัวอักษรแทนเสียง ระบบภาษาเขียนจึงเป็นเสมือนบันทึกของลักษณะเสียงของภาษาไทย เมื่อสมัยประมาณ ๗๐๐ ปี มาแล้วได้เป็นอย่างดี นักภาษาศาสตร์สามารถใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ อธิบายให้เห็นว่า เสียงของภาษาในสมัยสุโขทัย ต่างไปจากเสียงในสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

พยัญชนะ

แม้ว่าอักษรไทยที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ซึ่งถือกันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นการจารึกอักษรไทยครั้งแรกนั้น ได้ใช้พยัญชนะไม่ครบทั้ง ๔๔ ตัว คือ มีเพียง ๓๙ ตัว ขาดตัว ฌ ฑ ฒ ฬ และ ฮ ไม่ครบชุดพยัญชนะเหมือนที่ใช้สอนวิชาภาษาไทยในโรงเรียนในปัจจุบัน แต่เราก็อาจสันนิษฐานว่า ระบบภาษาเขียน ในขณะนั้นมี จำนวนพยัญชนะ เท่ากับในปัจจุบัน ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ 

ประการแรก 

จารึกหลักที่ ๒ และจารึกยุคต่อๆ มาใช้ตัวอักษรอีก ๔ ตัว ที่ไม่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ และถึงแม้เราจะไม่พบตัวอักษร "ฮ" ในศิลาจารึกในยุคต่อๆ มา ก็เป็นที่เชื่อได้ว่า "ฮ" มีอยู่แล้วในระบบ 

ประการที่ ๒ 

คือ ภาษาเขียนนั้นประดิษฐ์ขึ้นเป็นระบบ ให้มีอักษรสูงทุกตัวคู่กับอักษรต่ำ "ฮ" มีขึ้น เพื่อคู่กับ "ห" 

ประการที่ ๓ 

คือ "ฮ" เป็นอักษรที่มีที่ใช้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับอักษรอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำในภาษาสมัยโบราณ แม้ในขณะที่เขียนเรื่องภาษาอยู่นี้ ถ้าเราไม่กล่าวถึงตัว "ฮ"โอกาสที่เราจะใช้คำที่เขียนด้วยตัว "ฮ" แทบจะไม่มีเลย และเพราะเหตุนี้จึงไม่น่าที่จะมีการคิดเพิ่มอักษร "ฮ" ขึ้นภายหลัง เพราะไม่มีความจำเป็นในการใช้ 

ในบรรดาตัวอักษร ๔๔ ตัวที่มีมาแต่สมัยโบราณ มีอยู่ ๒ ตัวที่เราเลิกใช้ไปแล้ว คือ ฃ (ขอขวด) และ ฅ (คอคน) ที่เราเลิกใช้ไปโดยปริยาย ก็เพราะเสียง ๒ เสียงนี้ เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นเสียงเดียวกับ ข และ ค ตามลำดับ ในภาษาไทยกลางเมื่อเราออกเสียง "ฃ" เป็น "ข" ก็เป็นธรรมดาที่เราจะไม่ทราบว่า คำโบราณใดบ้างที่เคยออกเป็นเสียง "ฃ" เวลาเขียนเราจึงไม่สามารถเลือกใช้ได้ถูก ซึ่งทำให้เราเลิกใช้ไปในที่สุด แต่ทั้งเสียง "ฃ" และ "ข" นี้ ยังมีใช้อยู่ในภาษาไทถิ่นอื่น คือ ในภาษาไทขาว ในเวียดนาม และตัวเขียนสำหรับ ๒ เสียงนี้ ก็ต่างกันด้วยในภาษาไทขาว 

เสียง "ข" และ "ฃ" เป็นเสียงที่มีใช้อยู่ในภาษาไทยสมัยสุโขทัยศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จึงได้มีการคิดอักษรแทนเสียง ๒ เสียงนี้ขึ้นในขณะนั้น และในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ใช้คำที่เขียนด้วยทั้ง "ข" และ "ฃ" หลายครั้งอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ คำใดที่เขียนด้วย "ฃ" เมื่อใช้ซ้ำอีกก็ใช้ "ฃ" ดังเดิม เช่น คำว่า ฃุน ฃึ้น และเฃา และการใช้อักษร ๒ ตัวนี้ก็ไม่ปะปนกันเหมือนในจารึก หรือการเขียนอื่นๆ ที่สำคัญมีนักภาษาศาสตร์นำคำที่ใช้เขียนด้วย "ข" และ "ฃ" ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไปเปรียบเทียบกับภาษาไทถิ่นอื่นๆ เช่น ไทขาวก็พบว่า เป็นคำที่ใช้เสียงประเภทเดียวกัน และแยกเสียง "ข" และ "ฃ" เหมือนกัน เพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่เป็นมรดกตกทอดมาจากภาษาไทโบราณเก่าแก่ ตั้งแต่ยังไม่มีอักษรเกิดขึ้น ภาษาไทถิ่นต่างๆ ยังใช้คำเหล่านี้อยู่ แต่ว่าเสียงที่ใช้ในคำเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในหลายถิ่น อันที่จริงเราสามารถเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยยุคหลังศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวคือ การใช้ "ข" และ "ฃ" เริ่มไม่สม่ำเสมอ คำๆ เดียวกันบางครั้งก็เขียนด้วย "ข" บางครั้งก็เขียนด้วย "ฃ" แสดงว่า ผู้เขียน หรือผู้จารึกเริ่มแยกเสียง ๒ เสียงนี้ไม่ออก เสียงทั้งสองอาจเริ่มฟังเหมือนกัน เราต้องไม่ลืมว่า ในสมัยสุโขทัยไม่มีโรงเรียนสอนภาษา หรือพจนานุกรม ที่ผู้ใช้ภาษาอาจใช้อ้างอิงได้ แต่การเขียนแทนเสียงต้องมาจากการฟังและได้ยินเสียงที่ต่างกัน จึงจะเขียนด้วยอักษรที่ต่างกัน แม้สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานที่แสดงว่า เสียง "ฃ" ได้หายไปแล้วโดยสิ้นเชิง แต่ยังมีผู้ใช้ "ฃ" เพราะว่า เป็นตัวอักษรที่มีอยู่ กล่าวคือ คำหนึ่งๆ ใช้เขียนได้ทั้ง ๒ แบบ และที่ใช้ "ฃ" เขียนนั้น บางคำก็มาจากภาษาเขมร บางคำก็มาจากภาษาบาลี

ตัวอย่างการใช้อักษร ๒ ตัวนี้ปะปนกัน แสดงว่า เสียงได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้เขียนยุคหลังศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ไม่มีความรู้ว่า คำใดเคยเขียนด้วย "ฃ" จึงเขียนไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ใช้ภาษาไทยยุคอื่นไม่มีทางทราบได้ และไม่มีหลักยึดว่า คำใดควรเขียนด้วย "ข" หรือ  แต่ในยุคของศิลาจารึกหลักที่ ๑ เสียงทั้ง ๒ นี้ยังต่างกันอยู่ ผู้จารึกจึงเขียนได้ และคำเหล่านี้ เมื่อนักภาษาสมัยใหม่ตรวจสอบกับคำภาษาไทถิ่นอื่น ตามหลักการทางภาษาศาสตร์ ก็ปรากฏว่า "ฃ" เป็นคำที่ใช้เสียง "ข" และ "ฃ" มาก่อนจริง ตัวอักษร "ฃ" จึงใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีขึ้นก่อนที่เสียง "ฃ" จะเปลี่ยนแปลงไปในสมัย สุโขทัยยุคต่อมา สมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์

โดยสรุปในแง่ของพยัญชนะที่ประดิษฐ์ขึ้น ในสมัยสุโขทัยก็คือ มีจำนวน ๔๔ ตัวอักษร เท่าที่ปรากฏในสมัยปัจจุบัน แต่การเขียนตัวอักษรได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

สระการเขียนสระในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ต่างจากการเขียนสระในสมัยปัจจุบันมาก ทั้งรูปร่างสระ และวิธีการเขียน กล่าวคือ สระเขียนอยู่ในบรรทัดเช่นเดียวกับพยัญชนะ แต่ในสมัยสุโขทัยยุคต่อมา ได้กลับไปเขียนแบบให้มีสระอยู่รอบๆ พยัญชนะ คือ มีทั้งที่เขียนข้างหน้าข้างบน ข้างหลัง และข้างล่าง พยัญชนะที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนนี้คงให้เหมือนกับระบบภาษาเขียนอื่น ที่คนไทยสมัยนั้นใช้อยู่ก่อน และมีความเคยชินด้วย นอกจากเรื่องตำแหน่งแล้ว วิธีเขียนสระก็ต่างไปคือ สระอัว ในหลักที่ ๑ ใช้ วว ในคำที่ไม่มีเสียงสะกด เช่น หวว "หัว" ตวว "ตัว" ถ้ามีตัวสะกดก็ใช้ "ว" ตัวเดียว เช่นเดียวกับในปัจจุบัน เช่น สวน แสดงว่ายังไม่มีการใช้ไม้หันอากาศ เพราะเสียง "ะ" ในคำที่มีตัวสะกดก็ใช้พยัญชนะสะกดซ้ำ ๒ ตัว เช่น มนน "มัน" แต่ในสมัยสุโขทัยยุคต่อมา ก็มีการใช้ไม้หันอากาศ ส่วนสระเอียใช้เขียนเป็น "ย" เช่น วยง "เวียง" สยง"เสียง" โดยภาพรวมแล้ว สระที่มีการเขียนเป็นตัวอักษรแทนเสียง มีจำนวนเท่ากับสระในปัจจุบัน

วรรณยุกต์ 

รูปวรรณยุกต์ที่ใช้เขียนกำกับในยุคสุโขทัย มีเพียง ๒ รูป คือ ไม้เอก และไม้โท แต่ไม้โทใช้เป็นเครื่องหมายกากบาทแทน สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับรูปวรรณยุกต์คือ ไม่ใช่ตัวอักษรแทนเสียง ในทำนองเดียวกับตัวพยัญชนะและสระ เพราะไม้เอกไม่ได้กำกับเฉพาะคำที่มีเสียงเอกเท่านั้น ในทำนองเดียวกันไม้โทก็ไม่ได้กำกับเสียงโทเท่านั้น แต่เสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนไปตามลักษณะพยัญชนะ ต้นของคำ คือ ไม้เอก บอกเสียงเอกในคำที่ขึ้นต้น ด้วยอักษรสูงและกลาง แต่บอกเสียงโทในคำที่ขึ้น ต้นด้วยอักษรต่ำ และไม้โท บอกเสียงโทในคำที่ มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงและกลาง แต่บอก เสียงตรีในคำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรต่ำแสดงว่า รูปวรรณยุกต์ไม่ได้ใช้แทนเสียงหนึ่งเสียงใดโดยเฉพาะ แต่ใช้บอกความต่างกันของเสียงเท่านั้น ซึ่งน่าจะหมายความว่า รูปวรรณยุกต์แบบนี้สร้างขึ้น เพื่อให้ใช้ผันเสียงวรรณยุกต์กับอักษรสูง กลาง ต่ำ ใช้ แสดงความแตกต่างกัน และจะใช้กับเสียงวรรณยุกต์ในถิ่นใดก็ได้ และคงเป็นเพราะรูปวรรณยุกต์ มิได้ใช้แทนเสียงวรรณยุกต์ใดวรรณยุกต์หนึ่งนี้เอง ที่ทำให้จารึกในยุคหลังๆ ไม่ใช้วรรณยุกต์กำกับ เลยก็มี

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่าด้วงหรือทองด้วง  เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๙๘  หรือวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นบุตรของพระอักษรสุนทร ( ทองดี ) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ กับท่านหยกธิดาเศรษฐี สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี  ( ปาน )   เสนาบดีกรมพระคลัง  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ท่านเข้ารับราชการครั้งแรกโดยถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต  เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ทรงผนวช ณ วัดมหาทลาย เป็นเวลา ๑ พรรษา ทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตร  เมืองราชบุรี เมื่อพระชนมายุ ๒๕ พรรษา
            หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าได้ ๑ ปี พระองค์ ได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีในตำแหน่งพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้บ้านเมืองและทำศึกสงครามมากมาย ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ พระองค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบเจ้าพิมาย ภายหลังสงครามครั้งนี้ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๒  ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร (กัมพูชา) ตีได้เมืองพระตะบองและเสียมราฐ ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงครามอย่างมากมาย จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเลื่อนยศเป็นพระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ
            เมื่อถึงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราวปีพ.ศ.๒๓๒๔ ขณะสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังไปราชการทัพอยู่ที่เขมร (กัมพูชา) ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างฝ่ายกบฏที่ต้องการควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วออกว่าราชการแทน กับฝ่ายต่อต้านกบฏ ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ เมื่อปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จแล้ว ราษฎรและข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สมเด็จพระอมรินทราพระบรมราชินี  เป็นพระบรมราชินีองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  มีพระนามเดิมว่านาค มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๔๒ พระองค์  โดยพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติในพระอัครมเหสีมี ๙ พระองค์  ได้แก่
          ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง                       สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
            ๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย                        สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
            ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่           พระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระราชมารดาในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิด
            ๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม                   ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2
            ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแจ่ม                ต่อมาได้รับการสถาปนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทร
            ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง                        สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
            ๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย                    ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังมหาเสนานุรักษ์
            ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง                       สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
            ๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเอี้ยง                ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าประไพวดี  กรมหลวงเทพยวดี



พระราชกรณียกิจ


กรุงรัตนโกสินทร์

            พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวราราม และวัดโมฬีโลกยาราม ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี
           
             การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จศ.๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พศ.๒๓๒๕ และโปรดเกล้าฯให้สร้าง พระบรมมหาราชวัง สืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรา ยุทธยา มหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต  สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์  นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้ สร้างสิ่งต่างๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการคลอง ถนนและสะพานต่างๆ มากมาย


พระราชกรณียกิจด้านการป้องกันประเทศ



สงครามเก้าทัพ

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด    ครั้งในรัชสมัยของพระองค์  ได้แก่สงคราม

สงครามครั้งที่    พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามเก้าทัพ
            สงคราม ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่า โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบ ประเทศไทย จึงรวบรวมไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐  คน  กรีธาทัพเข้าตีประเทศไทยโดยแบ่งเป็น  ๙  ทัพใหญ่  เข้าตีจากกรอบทิศทางส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง ๗๐,๐๐๐  คนเศษเท่านั้น  
            ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า  ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม  จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร  เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น  และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๒๙  สงครามท่าดินแดงและสามสบ
            ครั้ง นี้ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุดโดยแก้ไขข้อผิด พลาดต่างๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสวนสามสบ  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ  หลังจากรบกันได้  ๓ วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่างๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์  ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทยใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทร์ กัมพูชา และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมือง กลันตัน  ตรังกานู  ไทรบุรี  ปะริด และเประ

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองลำปางและเมืองป่าซาง
            หลังจากที่พม่า พ่ายแพ้แก่ไทยก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม  รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล  ๖๐,๐๐๐  นาย  มาช่วยเหลือ และขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๐  สงครามตีเมืองทวาย
            ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พล  ๒๐๐๐๐ นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๖  สงครามตีเมืองพม่า
            ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๔๐  สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่
            เนื่องจากสงครามในครั้งก่อนๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้  จึงทรงรับสั่งไพร่พล  ๕๕,๐๐๐  นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น ๗ ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น ๔๐,๐๐๐ นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน

สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๕๕  สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่  ครั้งที่ ๒
            ในครั้งนั้นพระยากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ  และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย

กฎหมายตราสามดวง



พระราชกรณียกิจด้านการชำระประมวลกฎหมาย

            เมื่อปี พ.ศ.  ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระกฎหมายที่มีอยู่ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อนำมาใช้เป็นหลักการปกครองต่อไป  ซึ่งกฎหมายที่ชำระขึ้นใหม่มีชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง มีความยาวเป็นสมุดยกแปด ๓  เล่ม รวม ๑,๖๗๗ หน้า ใช้เวลาในการชำระ ๑๑ เดือน ซึ่งกฎหมายตราสามดวงนี้ได้ใช้มาอย่างยาวนานจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)  รวมระยะเวลา ๑๓๑ ปี      

พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง

            การปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ตำแหน่งที่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์ คือตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
            ระบบการบริหารมีอัครเสนาบดี    ตำแหน่ง  คือ  สมุหพระกลาโหม  มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมุหนายกมีหน้าที่ปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนคร

            เสนาบดีจตุสดมภ์  ดูแลด้านต่างๆ มี ๔ ตำแหน่ง ประกอบด้วย
            ๑. เสนาบดีกรมเมือง หรือ กรมเวียง  มีตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรทั่วไปในราชอาณาจักร

            ๒. เสนาบดีกรมวัง  มีตราเทพยดาทรงพระนนทิกร(โค) เป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่บังคับบัญชาภายในพระบรมมหาราชวัง  และพิจารณาความคดีแพ่ง

            ๓. เสนาบดีกรมพระคลัง  มีตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่ในการรับ-จ่าย  และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วยอากร  รวมถึงบังคับบัญชากรมท่าและการค้าขายกับต่างประเทศ  รวมถึงกรมพระคลังต่างๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า

            ๔. เสนาบดีกรมนา มีตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่บังคับบัญชาเกี่ยวกับกิจการไร่นาทั้งหมด

พระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา

วัดพระแก้ว


พระราชกรณียกิจที่สำคัญในการทำนุบำรุงพระศาสนา ได้แก่

            การสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุด โดยตั้งคณะสงฆ์ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะขึ้นมาเพื่อชำระพระไตรปิฎก เนื่องจากพระไตรปิฎกที่มี อยู่มีความผิดเพี้ยน และบันทึกเป็นหลายอักษร ทั้งอักษรลาว รามัญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระให้ถูกต้อง และบันทึกเป็นอักษรขอมจารึกลงบนใบลาน แล้วเก็บไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม แล้วสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ตามพระอารามหลวงต่างๆ เพื่อได้ใช้ศึกษาต่อไป
            การกวดขันสมณปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระเถระชั้นผู้ใหญ่  ให้ดำรงสมณศักดิ์รับผิดชอบศาสนาให้รุ่งเรืองต่อไป  และได้ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ไว้อย่างเคร่งครัด
            การสร้างวัด และการบูรณปฏิสังขรณ์  ทรง มีรับสั่งให้มีการก่อสร้างและซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมากโดยเฉพาะ อย่างยิ่งคือ การสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พร้อมกับการสถาปนาพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ.๒๓๒๕ ทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม และทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

พระราชกรณียกิจด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม

รามเกียรติ์

            การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ส่วนใหญ่จะเป็นการฟื้นฟูในด้านวรรณกรรมเป็นสำคัญ  โดยทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองบ้าง  กวีและผู้รู้เขียนขึ้นมาบ้าง  และด้วยความที่พระองค์ทรงสนพระทัยในงานด้านวรรณศิลป์เป็นอย่างมาก  จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนหนึ่ง ที่รู้จักกันดีได้แก่ พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นสุดยอดวรรณคดี เอกของไทย ดังจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในงานศิลปะแขนงต่างๆ มากมาย เช่น จิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารต่างๆ หรือการแสดงโขน เป็นต้น ซึ่งรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่    นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ลงในสมุดปกดำแบบโบราณ ความยาวประมาณ  ๑๐๒  เล่มจบ  นับว่าเป็นวรรณคดีไทยที่มีความรามเกียรติ์ยาวมากเรื่องหนึ่ง

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงอยู่ในสิริราชสมบัตินาน ๒๘ ปีเศษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ รวมพระชนมายุได้ ๗๔ พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มี พระอัจฉริยภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสงครามศาสนาการปกครองและศิลปวัฒนธรรม ทรงเป็นผู้ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ และฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้านให้มีความรุ่งเรืองสง่างามเทียบเท่ากับกรุง ศรีอยุธยาราชธานีเก่า ซึ่งนับว่าเป็นความยากลำบากอย่างมาก  แต่พระองค์ก็ทำจนสำเร็จ  ปวงชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา มหาราช” ต่อท้ายพระนามของพระองค์ เพื่อรำลึกถึงเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ของพระองค์สืบไป

เกร็ดความรู้

สะพานพุทธ

        สะพานพุทธ
         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก  พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗)  ได้มีพระราชดำริว่า  ควรจะมีการสร้างอนุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์สืบไป และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๕๐ ปีรวมถึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่เป็น ๓ เท่าของพระองค์จริง และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม ระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ส่วนแบบสะพานนั้นเป็นสะพานเหล็กยาว ๒๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๑๖.๖๘ เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ ๓๒.๕ เมตร และพระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่าสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า สะพานพุทธ” นั่นเอง